นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเชิงสังเคราะห์ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ"ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นและความผันผวนจะลดลง แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวไปทุกภาคส่วนและยังมีความเปราะบาง
ทั้งนี้ การมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นอาจทำให้ละเลยปัญหาที่ใหญ่และหนักกว่า นั่นคือ ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะแสดงอาการออกมามากขึ้น โดยพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในอดีตสามารถขยายตัวได้สูงถึง 7-8% ต่อปี แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลต่ำลงมาเหลือเพียงปีละ 3-4% จนดูเหมือนกลายเป็น new normal ของอัตราการขยายตัวไปแล้ว
"รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยที่ในอดีตเคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันกลับถูกหลายประเทศที่เคยตามหลังเรา แซงหน้าไปแล้ว ภาวะเช่นนี้เรียกว่าการติดกับดับรายได้ปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่าการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยในระยะหลัง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาวัฎจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ฝังลึกมานานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุดทั้งการขาดการลงทุนมาเป็นเวลานาน เทคโนโลยีการผลิตล้าหลัง ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ระบบการศึกษาไทยที่ด้อยคุณภาพ เชื่อว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้คงไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาสั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากการติดหล่มในเชิงโครงสร้างต่าง ๆ และปลดล็อคเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนได้