นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการอัตราการยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็นโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและภาครัฐเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ตัวเป็นหดตัว -2.1% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 0.8% จากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองปัจจัยต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยบวก ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพและผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มมีผลต่อการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน, การทอ่งเที่ยว การค้าชายแดน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบรายจ่ายลงทุน (โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเติมเข้าในระบบเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลังอีกประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท) อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง ส่งผลให้ราคาสินค้าทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวสูงขึ้น มีผลดีต่อกำลังซื้อเกษตรกร และการดำเนินนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยต่ำมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสหรัฐปรับเพิ่มอันดับการค้ามนุษย์ของไทยจาก Tier 3 ขึ้นเป็น Tier 2 watch list
ส่วนปัจจัยลบ คือ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว โดยเฉพาะจากกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรลงมติแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ ความกังวลต่อภัยก่อการร้ายที่มีผลทำให้ธุรกรรมการค้าและการลงทุนของโลกซบเซา การส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ จากผลของเงินทุนไหลเข้า สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าไทยจากปัญหาประมงผิดกฎหมาย และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศยังคงใบแดงไทย