สศก.เผยเกษตรกรพอใจโครงการโซนนิ่ง หลังปรับปลูกพืชช่วยลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2016 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อภาพรวมการดำเนินโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ในระดับมาก เพราะการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยลดต้นทุน และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มาเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการดำเนินโครงการ

"เกษตรกรร้อยละ 79 มีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรได้ทราบความเหมาะสมของพื้นที่การเกษตร และมีการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชให้เหมาะสม สามารถลดต้นทุนและได้ผลผลิตในปริมาณที่เหมาะสมและมีคุณภาพ" น.ส.จริยา กล่าว

ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผลของ สศก.ในช่วงดำเนินงานโครงการ พบว่า ได้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการลดต้นทุนการผลิตในเขตเหมาะสม (S1 และ S2) ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพืชเหมาะสมร้อยละ 84 ได้รับการถ่ายทอดความรู้แล้ว โดยร้อยละ 85 นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้น ในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (S3 และ N) ได้รับการอบรม/ชี้แจงผลกระทบจากการปลูกพืชไม่เหมาะสมและเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วโดยร้อยละ 78 อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรที่สำรวจ

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการรวบรวมพื้นที่ และจำนวนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (N) และวางแผนบูรณาการเพื่อหน่วยงานภาครัฐเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย Zoning และใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อบริหารจัดการพื้นที่และสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปริมาณสอดคล้องกับความต้องการ มีเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยการขับเคลื่อนโครงการในปีงบประมาณ 2559 เน้นการดำเนินการในพื้นที่ ศพก. 882 ศูนย์ และเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้แผนที่ความเหมาะสมในการปลูกพืชสำคัญในระดับตำบล เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้เรื่องความเหมาะสมของพื้นที่การเกษตรแก่เกษตรกร กำหนดระดับความเหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิดเป็น 4 ระดับ คือ S1 เหมาะสมมาก S2 เหมาะสมปานกลาง S3 เหมาะสมน้อย และ S4 ไม่เหมาะสม ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพืชเหมาะสมกับพื้นที่อยู่แล้ว (S1 และ S2) จะได้รับการถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติมด้านการลดต้นทุนการผลิต ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (S3 และ N) จะมีมาตรการสนับสนุนให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เหมาะสม ได้แก่ การเสนอทางเลือกในการผลิตพืชที่เหมาะสม การถ่ายทอดความรู้ในการปลูกพืชดังกล่าว และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ สระน้ำในไร่นาขนาดเล็ก วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ