TMB มองแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่น SME ยังแผ่วจากศก.ชะลอ-กำลังซื้อหด หวัง Q4 ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2016 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบญรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไตรมาส 2/59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 39.4 จากไตรมาส 1/59 ที่ 42.1 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศยังกังวลภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งยังส่งผลกระทบรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในส่วนภูมิภาค

หากแบ่งดัชนีเป็นรายภูมิภาคจะพบว่ามภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและกลาง มีการปรับตัวลดลง เพราะผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งกับผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในพื้นที่ลดลง ส่วนดัชนีในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ยังคงทรงตัวจากไตรมาส 1/59 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้ง และประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวยังพอมีกำลังซื้อในระดับกลางถึงสูง

ขณะที่ดัชนีภาคใต้ปรับตัวฟื้นตัวขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่น เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว ซึ่งเป็นรายได้หลักของพื้นที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี แม้จะเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น

สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้นปรับตัวลดลงเป็น 53.5 จากเดิมที่ 54.7 เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกยังคงกังวลเรื่องรายได้และการควบคุมต้นทุนของธุรกิจ เนื่องจากช่วงไตรมาส 3/59 จะขาดปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว นอกจากนี้ปัจจัยหลักอีก 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่อ่อนแอ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยาก

ในประเด็นภาวะเศรษฐกิจไทยนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ขยายตัว 2.8% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการประกาศตัวเลขไตรมาส 2/59 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะนำข้อมูลดังกล่าวมาทบทวน โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/59 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/59 ที่ขยายตัวได้ 3.2% เนื่องจาก เป็นช่วงที่มีวันหยุดมาก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของภาคการเกษตรไม่ได้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และมีผลต่อการบริโภคในประเทศมีโอกาสอ่อนตัวลง

ส่วนในไตรมาส 3/59 คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยอาจจะเห็นจังหวะการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลงหลังเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้สำหรับการเพาะปลูก และรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้บ้าง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเห็นเด่นชัดที่สุดในไตรมาส 4/59 จากการกระตุ้นและอัดฉีดโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งการที่ภาครัฐมีการนำร่องอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้นจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีการลงทุนตาม ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนหลักของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/59 ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ไตรมาสสุดท้ายของปีและไตรมาส 1 ของทุกปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นอีกปัจจัยหนุนหลักให้กับเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีมองว่าการที่พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เริ่มมีการประกาศใช้ในเดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเอ็มอีสามารถนำสินทรัพย์ที่พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวรับรองให้เป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สินค้าคงคลัง ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งเป็นการต่อสายป่านของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ยาวขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเรื่องสภาพคล่องยังคงเป็นปัญหาอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ