นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการอัตราการยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็นโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและภาครัฐเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ตัวเป็นหดตัว -2.1% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 0.8% จากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 3.3% ขณะที่คาดว่าครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ 3.2% ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 59 เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 3.3%
ส่วนในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ที่ 3.5-4% จากความคาดหวังของประชาชนและภาคธุรกิจที่เชื่อว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะมีการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปี 60 นั้น ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ เช่น การแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งน่าจะทำให้มีเม็ดเงินจากกิจกรรมการทางการเมืองลงสู่ระบบได้มากถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินนี้จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าได้ 0.3-0.5%
"เงินจากการทำกิจกรรมทางการเมืองจะเป็นตัว drive เศรษฐกิจ ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตอยู่ในกรอบ 3.5-4% เพราะเงินจากการเมืองที่จะเข้าสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งน่าจะใช้อย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท และอย่างน้อยน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.3-0.5%" นายธนวรรธน์ ระบุ
ม.หอการค้าไทย รายงานตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญในปีนี้ว่า การส่งออกยังเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรง สินค้าไทยในกลุ่มประมงยังถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป และนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่เน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้า โดย ม.หอการค้าไทยคาดว่าครึ่งปีแรกการส่งออกไทยจะหดตัว -1.7% ส่วนครึ่งปีหลังจะหดตัว -2.6% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีหดตัว -2.1%
ขณะที่คาดว่าการนำเข้าในปีนี้จะติดลบ -5.4% ในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัว -10.3% และครึ่งปีหลังหดตัว -0.4% ซึ่งมีผลจากการส่งออกที่หดตัวลง ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบลดลงตามไปด้วย รวมทั้งราคาน้ำมันดิบเริ่มขยับตัวสูงขึ้น ส่วนดุลการค้าในปีนี้ยังคาดว่าจะเกินดุล 18.2 พันล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 22.8 พันล้านดอลลาร์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปีนี้ยังคงเป็นไปตามคาดการณ์เดิมที่ 0.4% อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 59 จะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.50% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ระดับ 40.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ดีใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยประกาศไว้ที่โต 3.3% นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ประกอบกับภาคการผลิตเริ่มมีการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของไทยเริ่มติดลบในอัตราที่น้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว"นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า ภาคเอกชนมองว่าการเมืองจะเข้าสู่การมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากร่างรัฐธรรมนูยผ่านประชามติ และเชื่อว่าประเทศไทยจะเริ่มเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 60 ตามโรดแมพที่รัฐบาลประกาศไว้ จึงทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเองมองประเด็นการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการ QE ที่นานาชาติได้ใช้แก้ปัญหาจากกรณี Brexit ซึ่งจะทำให้ราคาตราสารหนี้และตราสารทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าความมั่งคั่งให้ภาคประชาชนและทำให้เกิดความกล้าที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
"เมื่อต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เขาจะมีความมั่นใจว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยง เงินทุนไหลออกคงจะไม่เกิดขึ้นง่าย และทุกคนยังเชื่อสถานการณ์ของจีน ญี่ปุ่น เอเชียยังเติบโตได้ ทำให้เงินไหลเข้าจะเป็นประเด็นที่ช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยในภาคประชาชนดีขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นภายหลังการรับร่างรัฐธรรมนูญ" นายธนวรรธน์ กล่าง
ทั้งนี้ ปัจจัยต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนั้น ปัจจัยบวก ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพและผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มมีผลต่อการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน, การทอ่งเที่ยว การค้าชายแดน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบรายจ่ายลงทุน (โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเติมเข้าในระบบเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลังอีกประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท) อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง ส่งผลให้ราคาสินค้าทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวสูงขึ้น มีผลดีต่อกำลังซื้อเกษตรกร และการดำเนินนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยต่ำมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสหรัฐปรับเพิ่มอันดับการค้ามนุษย์ของไทยจาก Tier 3 ขึ้นเป็น Tier 2 watch list
ส่วนปัจจัยลบ คือ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว โดยเฉพาะจากกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรลงมติแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ ความกังวลต่อภัยก่อการร้ายที่มีผลทำให้ธุรกรรมการค้าและการลงทุนของโลกซบเซา การส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ จากผลของเงินทุนไหลเข้า สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าไทยจากปัญหาประมงผิดกฎหมาย และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศยังคงใบแดงไทย