ครม.เห็นชอบจัดตั้ง 4 กองทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2016 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดตั้งทุนหมุนเวียนเพื่อกิจการต่างๆที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียนใน 4 กองทุน ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย

1. กองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและจะช่วยลดภาระการคลังของภาครัฐ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงสร้างดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงต่อไป และดูแลให้มีการจ่ายผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุนในกองทุน Thailand Future Fund

"กองทุนนี้จะเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนกับ ก.ล.ต.และนำไปสู่กระบวนการในการดำเนินการและเริ่มลงทุน ขณะนี้หัวใจสำคัญคือการเอาโครงการต่างๆเข้ามาอยู่เป็นโครงการแรกๆ คือมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 เพราะว่ากองทุนตั้งได้แต่ต้องมีสินทรัพย์ที่จะเอาไปลงทุน ซึ่งรอบแรกเราตั้งใจจะลงทุนในโครงการที่มีอยู่แล้วและมีผลประกอบการที่ใช้ได้ คือ มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี และ ส่วนที่เป็นวงแหวน ตอนนี้กำลังคุยกับกระทรวงคมนาคมเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ และเอาโครงการมาใส่

ส่วนเงินระดมทุนก็จะเอาไปจ่ายให้เจ้าของโครงการ หลังจากนั้นก็จะเอารายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน เงินที่ได้ก็จะเอาไปลงทุนในโครงการถัดไป คล้ายๆกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของBTS ของTRUE คือเอาสินทรัพย์นิ่งๆมาทำให้มีสภาพคล่อง แล้วสภาพคล่องไปลงทุนอีกรอบ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวก็จะจ่ายเป็นผลตอบแทนต่อเนื่อง"นายกอบศักดิ์ กล่าว

2. กองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงการสนับสนุน Start up ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นกลไกสนับสนุนให้เกิดการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทย และเป็นตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มปริมาณการนำผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

กองทุนนี้จะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เป็น Matching Fund เข้าไป บวกกับเงินของเอกชนบางส่วน หรือเป็นทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่และครอบคลุมหลายกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งใจจะเป็นการให้การสนับสนุนแก่นักศึกษาหรือผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาไม่เกิน 7 ปี หรือ บุคลากรในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม หรือวิสาหกิจเริ่มต้นทึ่มีการดำเนินการเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษาและการวิจัย

3. กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 โดยจะโยกย้ายจากความดูแลของกระทรวงการคลังมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อความสะดวกความคล่องตัวเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น และขณะเดียวกัน กำหนดวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมอาหารมื้ออื่นๆ นอกเหนือจากอาหารกลางวัน ครอบคลุมวัยก่อนประถมศึกษา การศึกษาภาคบังคับ กลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาทุพพลภาพและภาวะทุพพะโภชนาการ

สุดท้าย 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเตรียมการเพื่อจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติขึ้นมา ทั้งนี้เนื่องจากประชากรของประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคนในอนาคต และมีหลายคนไม่ได้มีการเก็บออมที่พอเพียงซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงที่กลายเป็นผู้ยากจน ดังนั้น เพื่อเพิ่มรายได้หลังเกษียณให้กับแรงงานในระบบ จึงจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ซึ่งจะเป็นการออมเพิ่มเติมจากช่องทางที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยจะครอบคลุมในหลายส่วนทั้งแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 11.4 ล้านคน จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ