นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่าการประชุมจัดทำการรับฟังข้อคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) ภายใต้โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามเส้นทางรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง จำนวน 12 ย่านสถานี เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ โดยที่ดินของรถไฟมีจำนวนมาก แต่ให้เช่าในราคาถูกมาก จึงต้องมีการปรับปรุงใหม่ และสร้างธุรกิจ พัฒนาพื้นที่ภายในสถานีและรอบสถานีให้เกิดมูลค่าเพิ่มนำรายได้คืนในส่วนของการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่อีกทาง
การรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า จะทำให้การพัฒนามีทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงมองความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ,ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม,มีความเป็นไปได้เชิงสังคมและชุมชนซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้เช่าใช้พื้นที่เดิม เปิดให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือร่วมถือหุ้นและบางแห่งอาจต้องใช้การจัดรูปที่ดิน
โดยการพัฒนาสถานีตามแนวรถไฟทางคู่นั้น จะมีบางแห่งที่เป็นสถานีร่วมระหว่างรถไฟทางคู่กับรถไฟความเร็วสูง เช่น รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก มีสถานีร่วมที่นครสวรรค์ ,กรุงเทพ-นครราชสีมา มีสถานีร่วมที่ นครราชสีมา เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง และปรับปรุงประสิทธิภาพรถไฟ ซึ่งในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2559 มีโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง และในแผนปฏิบัติการปี 2560 จะเพิ่มอีก 7 เส้นทาง ได้แก่ 1. ปากน้ำโพ-เด่นชัย 2.เด่นชัย-เชียงใหม่ 3. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 4. ขอนแก่น-หนองคาย 5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 6. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และ 7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
ด้านนายปาณฑพ มาลากุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.(กลุ่มธุรกิจด้านบริหารทรัพย์สิน) กล่าวว่าแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ โดยแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 25 สถานี ซึ่งได้ศึกษาไปแล้วในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 13 ย่านสถานี ได้แก่ กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, อรัญประเทศ-คลองลึก, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ลำปาง, เชียงใหม่, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น,หัวหิน , หาดใหญ่
ขณะที่ในปี 59 ร.ฟ.ท.ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาเพิ่มอีก 12 ย่าน (14 แปลง) โดยทบทวนแผนแม่บทเดิมพร้อมวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาและแนวทางการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เนื่องจากแต่ละย่านสถานีมีข้อจำกัดแตกต่างกัน การพัฒนาจะมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ธนบุรี , ศรีราชา, นครสวรรค์ , ศิลาอาสน์, ปากช่อง, ชุมทางบัวใหญ่ , หนองคาย, อุบลราชธานี , ทางแยกสายบุ่งหวาย ,โพธิ์มูล ,ชะอำ , ชุมพร, สุราษฎร์ธานี , พังงา-ท่านุ่น