(เพิ่มเติม) พลังงาน เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมหนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100 สถานี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมาตรการหลักของแผน คือ การลดใช้พลังงานในภาคขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด ซึ่งการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงในวันนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ) วันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เสนอโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อพิจารณาด้วย

ทั้งนี้การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี

พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการจดทะเบียนผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นให้ราคาการอัดประจุไฟฟ้ากลางวันสูงกว่าการอัดประจุไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้จะมีโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การสนับสนุนและจะประกาศให้ทราบประมาณภายในเดือนสิงหาคมต่อไป

“กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อม ระบบไฟฟ้าพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมีการชาร์จไฟรถยนต์แบบควิกชาร์จพร้อมๆ กัน ระบบไฟฟ้าพื้นฐานต้องสามารถรองรับได้ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพลังงานประมาณการเบื้องต้นจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคันในปี 2579 ณ ตอนนั้นประเทศไทยจะมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผนประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ บวกกับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15-20% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน" รมว.พลังงาน กล่าว

ในวันนี้ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมบูธการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้นำรถยนต์ BMW i3 (Fully EV) พร้อมแท่นประจุไฟฟ้ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากหน่วยงานต่างๆ มาจัดแสดงด้วย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า Honda Jazz (ดัดแปลง) จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รถยนต์ไฟฟ้า BYD จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รถยนต์ Toyota Prius จาก บมจ.ปตท. พร้อมกันนี้ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เช่น รถยนต์ BMW i8 รถยนต์ Tesla Model s รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Limo จักรยานยนต์ไฟฟ้า รุ่น EV Neo, รุ่น EV Vino, รุ่น Big E-Bike

สำหรับการประชุมกพช.วันนี้ ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามแผนฯ ในระยะที่ 1 คือ ในส่วนโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารถยนต์มินิบัสไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) (2) โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และ (3) โครงการศึกษาพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงรองรับการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ทางด้านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี เพื่อรองรับโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเส้นทางสุวรรณภูมิ–พัทยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560

ด้านบมจ. ปตท. (PTT) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารรับส่งพนักงานจาก ปตท. สำนักงานใหญ่–BTS สถานีหมอชิต คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า จำนวน 200 คัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี

ส่วนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ประกอบด้วย กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ดำเนินการด้านมาตรฐานความปลอดภัยการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการด้านมาตรฐานการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและมาตรฐานการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าตลอดจนการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและการออกใบอนุญาตในการจำหน่ายไฟฟ้า, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รูปแบบเต้ารับ และเต้าเสียบ ฯลฯ, กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศ เรื่อง กำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ