นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คาดในปี 2563 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารและการรักษาด้วยสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่าเพิ่มเป็น 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกว่า 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(จากการสำรวจตลาดปี2550) เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มในการดูแลสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงความนิยมในฐานะที่เป็นทางเลือกในการดูแลเกี่ยวกับการทดแทนฮอร์โมนและดูแลระบบประสาทที่มีต้นทุนในการรักษาถูกกว่า ค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับการรักษาโดยการแพทย์กระแสหลัก
สำหรับช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ของปีนี้ ไทยส่งออกสมุนไพร 766 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.6% เนื่องจากความต้องการสมุนไพรในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และจากสภาพสังคมผู้สูงอายุของไทย ผลักดันให้ภาพรวมการนำเข้าสูง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่ม 11.5% หรือมูลค่า 578 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะการนำเข้าสารหอมระเหยจากเนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และอินโดนีเซีย รวมถึงนำเข้าวิตามินจากอิตาลี สิงคโปร์และไต้หวันเพิ่มขึ้น
"การส่งออกสมุนไพรของไทยในแต่ละปีไม่สูงมากนัก นอกจากถูกใช้ในประเทศแล้ว สมุนไพรยังต้องเพิ่มยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากลด้วย โดยเฉพาะวัตถุดิบและคุณประโยชน์ของสินค้าให้มีความสม่ำเสมอ ซึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มดีมากและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก คือ สารสกัดสมุนไพร ในช่วง 6 เดือนแรกไทยส่งออกกว่า 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 133 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11% มีตลาดหลัก คือ เมียนมา จีน และสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดฮ่องกงมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากถึง 457% หรือมีมูลค่า 1.7 แสนเหรียญสหรัฐฯ" นางมาลี กล่าว
สำหรับตลาดในประเทศของสมุนไพร (ไม่รวมเครื่องสำอาง) มีทั้งผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคและอาหารจากสมุนไพรปี 58 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มอาหารสมุนไพร (เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) มีมูลค่าราว 26,852 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% ขณะที่กลุ่มยาสมุนไพร (แก้ไอ แก้แพ้ ทาแก้ปวด ช่วยย่อยอาหาร) มีมูลค่า 5,850 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ทั้งนี้คาดว่าปีนี้ตลาดรวมมีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ขยายตัว 7.2%
กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพมากในตลาด คือ กลุ่มอาหาร อาหารเสริม และเวชสำอาง มีการขยายตัวตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยในปีนี้ ยังคงมีแนวโน้มพอใช้ โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากการขยายตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งแรงหนุนจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และโครงสร้างประชากรและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมผู้สูงอายุ กระแสค่านิยม รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในการเข้าถึงยาสมุนไพร ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากมูลค่ายอดขายผลิตภัณฑ์ยาและอาหารจากสมุนไพร
"กระแสดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเร็วเนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โรคเรื้อรังประเภทต่างๆ และภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทางของการแพทย์กระแสหลัก รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของรายได้ในครัวเรือน สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม ตลอดจนความสามารถของระบบอินเตอร์เน็ตทั้งในด้านความสามารถในการเจาะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายและความสะดวกในการเข้าถึง" นางมาลี กล่าว