ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มการส่งออกมันสำปะหลังของไทยปีนี้ไม่สดใสเนื่องจากมีแรงกดดันจากจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักของมันเส้นไทย และคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน แนะผู้ส่งออกเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิตต่ำ ตลอดจนสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
"แม้ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเอทานอลในจีนจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ราคาส่งออกมันเส้นของไทยอาจให้ภาพที่ไม่สดใสในปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า จากหลายปัจจัยกดดัน อาทิ มาตรการระบายข้าวโพดในสต๊อกของจีนที่ยังมีแนวโน้มระบายออกมาต่อเนื่อง รวมถึงกฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าของจีนที่เข้มงวดมากขึ้นมีผลตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ตลอดจนคู่แข่งที่น่าจับตาอย่างเวียดนามที่อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมันเส้นของไทยในจีน อันจะเป็นการสร้างทางเลือกในการนำเข้ามันเส้นของจีน และเพิ่มอำนาจการต่อรองด้านราคาของจีน นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจะเป็นแรงกดดันราคาส่งออกมันเส้นไทยให้มีภาพที่ไม่ดีดังเช่นในอดีต" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 59 ไทยอาจมีมูลค่าส่งออกมันเส้นอยู่ที่ราว 1,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว 25.1% จากปีก่อน โดยราคาส่งออกมันเส้นอยู่ที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือหดตัว 15.9% และปริมาณอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน หรือหดตัว 10.9%
ดังนั้นผู้ประกอบการมันสำปะหลังไทยควรขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นที่มีศักยภาพในจีน เพื่อชดเชยส่วนแบ่งตลาดมันเส้นที่ลดลง อาทิ แป้งมันสำปะหลังดิบ รวมถึงแป้งดัดแปร (Modified Starch) ที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน ตลอดจนควรขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศศักยภาพอื่นที่มีความต้องการสินค้าที่มันสำปะหลังสามารถไปทดแทนได้ เช่น อินเดียที่นิยมบริโภคสาคู ขณะเดียวกันก็ควรต้องรักษามาตรฐานของสินค้า และการส่งมอบที่ตรงเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า
"ในปี 59 ราคาส่งออกมันสำปะหลังของไทยมีแนวโน้มลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี (ปี 54-59) โดยเฉพาะมันเส้นของไทยที่ส่งออกไปจีน เนื่องมาจากแผนปฏิรูปธัญพืชครั้งใหญ่ของจีนในรอบ 10 ปี ทำให้ความต้องการซื้อมันเส้นจากไทยชะลอลง กดดันภาพรวมมันสำปะหลังของไทยที่ส่งออกไปจีนให้มีภาพที่น่าเป็นห่วงในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของมันเส้นไทย โดยไทยส่งออกมันเส้นไปจีนเกือบทั้งหมดหรือราว 99% ของการส่งออกมันเส้นทั้งหมดของไทย ส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล เพื่อรองรับความต้องการของประชากรในประเทศที่มีมากกว่า 1,370 ล้านคน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะข้างหน้าแนวโน้มความต้องการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเอทานอลในจีนน่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อันส่งผลต่อความต้องการใช้มันเส้นซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต แสดงถึงโอกาสของมันเส้นไทยในการส่งออกไปจีนที่ยังมีให้เห็นอยู่ ผนวกกับกำลังซื้อจากจีนที่ยังมี แม้คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะให้ภาพการเติบโตที่ชะลอลงในปี 59 ไปอยู่ที่ราว 6.6% และในปี 60 คาดเติบโตอยู่ที่ราว 6.4%
โดยความต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจีน คาดว่า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ย 3% ต่อปี ในช่วงปี 59-63 ตามการเติบโตของจำนวนประชากรจีนที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสุรามากขึ้น พิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์ปริมาณยอดขายแอลกอฮอล์ของจีนที่อาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 6,400 ล้านลิตรในปี 63 สะท้อนถึงความต้องการวัตถุดิบอย่างมันเส้นและ/หรือวัตถุดิบอื่น เพื่อผลิตแอลกอฮอล์ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว
ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลของจีนสะท้อนจากปริมาณการผลิต คาดว่า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ย 18.8% ต่อปี ในช่วงปี 58-62 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของจีนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดในรถยนต์ พิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตเอทานอลของจีนที่อาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 6.6 พันล้านลิตร ในปี 62 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการวัตถุดิบเพื่อผลิตเอทานอลในจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จีนมีการใช้ข้าวโพดในสต๊อกที่มีอยู่มากกว่า 100 ล้านตันทดแทนการใช้มันสำปะหลังได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิรูปธัญพืชครั้งใหญ่ของจีนในรอบ 10 ปี โดยเป็นการใช้ข้าวโพดในสต๊อกเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ตั้งแต่เดือน ก.ย.58 (จีนมีนโยบายรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดราว 20% จนสต๊อกข้าวโพดเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องระบายออกมา) ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณความต้องการใช้มันสำปะหลังให้ลดลง และสร้างแรงกดดันต่อราคามันสำปะหลังไทย ซึ่งอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการระบายข้าวโพดในสต๊อกเพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล
ขณะเดียวกันจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่คุมเข้มนำเข้ามันสำปะหลังตั้งแต่เดือน ก.ค.59 เป็นต้นไป ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกมันสำปะหลังไปจีนต้องมีการขึ้นทะเบียน และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ/มาตรฐานของจีน อาทิ ห้ามมีแมลงศัตรูพืช รวมถึงต้องมีการจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัย และคุณภาพสินค้าที่ส่งออกไปจีน อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความยากลำบากมากขึ้นในการส่งออกมันเส้นไปจีน ซึ่งอาจกระทบต่อยอดการส่งออกมันเส้นไทย
นอกจากนี้คู่แข่งส่งออกมันเส้นอย่างเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มบทบาทมากขึ้นในจีน โดยเวียดนามมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ต้นทุนการผลิตต่ำ และเร่งการส่งออก จนมีส่วนแบ่งการตลาดในจีนมากขึ้น เห็นได้จาก สัดส่วนปริมาณนำเข้ามันเส้นของจีนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 19.5% ในปี 58 และ 24.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 59 จาก 18.0% ในปี 53 ขณะที่สัดส่วนปริมาณนำเข้ามันเส้นของจีนจากไทยเริ่มลดลงจาก 79.8% ในปี 53 มาที่ 79.1% ในปี 58 และ 73.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า เวียดนามอาจเป็นคู่แข่งที่น่าจับตาของไทยในระยะถัดไป
"แม้ว่าปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดมันเส้นของเวียดนามในจีนจะยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับไทย แต่หากไทยไม่เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงลดต้นทุนการผลิต เวียดนามก็อาจเพิ่มบทบาทในตลาดจีนมากขึ้นตามลำดับในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยกดดันที่มีต่อมันเส้นไทยดังกล่าวจะส่งผลต่ออำนาจการต่อรองด้านราคาของจีนที่มีมากขึ้น ซึ่งภาพของแรงกดดันด้านราคานี้น่าจะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และเมื่อผนวกกับแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจะยิ่งกดดันความต้องการใช้มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล กระทบราคามันเส้นให้ปรับลดลงด้วย โดยช่วงครึ่งแรกของปี 59 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 36.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง 35.3% และราคาส่งออกมันเส้นของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 175.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลง 17.6%
"หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าในระยะข้างหน้า ราคามันเส้นไทยอาจให้ภาพที่ไม่ดีดังเช่นในอดีต ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตจึงควรต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ