นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ว่า สถานการณ์การผลิตและการตลาดสุกร ได้มีการรายงานจาก Executive Summary สินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ ประจำไตรมาสที่ 2/2559 เดือนมิถุนายน 2559 คาดการณ์ปริมาณการผลิตสุกรขุนปี 2559 เป็น 17.70 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตเนื้อสุกร 1.328 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 4.40 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น คือปัจจัยด้านราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ปรับเพิ่มขึ้น จูงใจให้มีการขยายปริมาณการผลิต ประกอบกับได้รับแรงหนุนด้านตลาดส่งออก ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานภาวะราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในปี 2559 โดยราคาเฉลี่ยปี 2559 (มกราคม – มิถุนายน) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.31 บาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.70 โดยราคาสุกรมีชีวิต ในเดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด เป็นกิโลกรัมละ 77.50 บาท หลังจากนั้น ราคาชะลอตัวลง ปรับลดลงเหลือกิโลกรัมละ 77.33 บาทในเดือนมิถุนายน
ส่วนปริมาณการส่งออกในปี 2559 (ม.ค. - มิ.ย.) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า สุกรมีชีวิตมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และสุกรพันธุ์ส่งออกเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศลาวและสุกรขุนส่งออกเพิ่มขึ้น 1 เท่า เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับการลงทุนไปลงทุนผลิตสุกรในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร รายงานข้อมูลต้นทุนการผลิตสุกรขุนรายเดือน ปี 2559 โดยต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2559 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 68.38 บาท กิโลกรัมละ 66.77 บาท ตามลำดับ และคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไตรมาสที่ 3 เป็น 71.27 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากไตรมาสสองเนื่องจากต้นทุนค่าพันธุ์สัตว์ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3
นอกจากนี้ สถานการณ์เรื่องของการใช้สารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารเร่งเนื้อแดง อาหารสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ ยาปฏิชีวนะที่ไม่ได้คุณภาพ ทางภาครัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมผู้ที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในหลายพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการจับกุมโรงเชือดเถื่อน โดยเข้าไปดูแลและควบคุมอย่างเข้มงวด
“กระทรวงเกษตรฯ มีแผนยุทธศาสตร์ในปี 2560 เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากฉบับเดิม โดยเฉพาะการวางแผนคาดการณ์ถึงอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ เศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้" นายธีรภัทร กล่าว