ก.เกษตรฯ วางมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บุกรุกฟื้นที่ป่า นำร่อง 5 หมื่นไร่ในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2016 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช. เร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพันธุ์พืชไทย วางมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบ เพื่อบูรณาการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า/เขาหัวโล้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่า 7.8 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย 4.1 ล้านไร่ และปลูกในพื้นที่เขตป่าไม้อีกประมาณ 3.7 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดน่าน เชียงราย เลย เพชรบูรณ์ และตาก เป็นต้น

สำหรับแผนดำเนินการในปี 60 กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งเป้าผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ถูกกฎหมายเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา สระบุรี และลพบุรี รวมกว่า 50,000 ไร่ เกษตรกร 3,000-4,000 ราย โดย ส.ป.ก. สามารถรับรองได้ 25,000 ไร่ และภาคเอกชน ประมาณ 20,000 ไร่ ภายใน 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2564 คาดว่าจะสามารถตรวจรับรองแปลงปลูกข้าวโพดตามมาตรฐาน GAP ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่

ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการตรวจรับรองและสามารถดำเนินการได้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ที่นอกจากการดำเนินการโดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ส่วนหนึ่งแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนเร่งถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้งให้แก่หน่วยรับรองภาคเอกชน เช่น บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น โดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนหลายรายยื่นมือเข้าช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น บริษัท ซี.พี., เบทาโกร ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ส.ป.ก., กรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ โดยมีการอบรมทั้งการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิต รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน GAP ด้วย โดยในปีนี้ ส.ป.ก. ได้มีการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวโพดแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการตรวจรับรองสามารถตรวจได้ในช่วงผลิตเท่านั้น ดังนั้น ส.ป.ก. จะสามารถรับรองได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค. ซึ่งข้าวโพดจะเก็บเกี่ยวหมดพอดี

ขณะเดียวกันได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดกับทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและภาคเอกชนด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับราคาผลผลิตข้าวโพดจากแปลง GAP เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกษตรกร GAP มีโอกาสทางการตลาดและได้ราคาดีกว่าเกษตรกรทั่วไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ