นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กวพ.ได้มีมติขยายระยะเวลามาตรการเพิ่มความคล่องตัวในการจัดหาพัสดุของส่วนราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 145 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 สำหรับใช้จัดหาพัสดุในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ออกไปพลางก่อน จนถึงวันที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุจะมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ ส่วนราชการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความคล่องตัว สามารถเบิกจ่ายเงินโดยเฉพาะแผนงาน โครงการขนาดเล็กเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการในปีงบประมาณ 2560 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาในการกำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุของส่วนราชการ ตาม ว 299 เดิม ประกอบด้วย 1.การซื้อหรือการจ้างราคาไม่เกิน 500,000 บาท ใช้วิธีตกลงราคา 2.การซื้อหรือการจ้างตั้งแต่ราคา 500,000 - 2,000,000 บาท ใช้วิธีสอบราคา 3.การซื้อหรือการจ้าง ตั้งแต่ราคา 2,000,000 บาทขึ้นไป ให้ส่วนราชการใช้วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แล้วแต่กรณี และ 4.การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีราคาเกิน 500,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 23 หรือ 24 แล้วแต่กรณีๆ ไป ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0405.2/ว 315 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2559
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เพื่อให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาล รวมทั้งก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0405.2/ว 316 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ไว้ดังนี้
1. การทราบยอดเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหาพัสดุ ให้ถือว่าทราบยอดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แล้วเสร็จก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 2
2. เมื่อส่วนราชการทราบยอดเงิน ให้เผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้ก่อนได้ โดยยังไม่ต้องลงนามในสัญญา
3. ให้ส่วนราชการที่จะจัดหาพัสดุ กำหนดเงื่อนไขไว้ในเอกสารประกอบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยว่า การจัดซื้อหรือการจัดจ้างจะมีการลงนามในสัญญาได้ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว หากเกิดกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาพัสดุ ส่วนราชการสามารถยกเลิกการจัดหาได้
ทั้งนี้ การบันทึกข้อมูลในระบบ e-GP สามารถดำเนินการบันทึกข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องระบุรหัสงบประมาณและรหัสแหล่งเงิน แต่ส่วนราชการต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวให้เสร็จก่อนที่จะลงนามในสัญญา
"การขยายระยะเวลาการจัดหาพัสดุ รวมถึงการเตรียมการในการจัดหาพัสดุก่อน พรบ.งบประมาณฯ จะประกาศใช้จะช่วยให้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายได้" นายมนัส กล่าว