ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวต่อเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว คาดว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยเพียง 0.05-0.07% หากไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
พร้อมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหายไปจากภาคใต้ประมาณ 1.24 แสนคน หรือคิดเป็น 1.1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 6,050 ล้านบาท โดยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะลดลงราว 2,300 ล้านบาทในกรณีที่สถานการณ์มีผลต่อเนื่องนาน 1 เดือน แต่หากสถานการณ์ต่อเนื่องนานถึง 2 เดือน คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะลดลง 4,500 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ในภาคใต้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเป็นเพียงเหตุการณ์ในระยะสั้น ไม่น่าจะยืดเยื้อนานเกิน 1 เดือน และจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่จำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึง 60.6% มองว่าเหตุระเบิดดังกล่าวกระทบต่อการท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 39.4% มองว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมไม่เกิน 1 เดือน และไม่มีผลบั่นทอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในปีนี้ โดยยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.6% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึง 3.5%
"ภาคธุรกิจมองว่าเป็นผลกระทบเฉพาะภาคใต้เท่านั้น และเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น อาจจะมีผลต่อยอดจองโรงแรมบ้างในช่วงนี้ แต่จะไม่มีผลกระทบไปถึงช่วง high season และไม่กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมในปีนี้ที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่ที่ 33.2 ล้านคน...มูลค่าผลกระทบถ้ารวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวแล้วน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 8,000-10,000 ล้านบาท มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่เกิน 0.05% หรือแทบจะไม่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ ระบุ
จากผลสำรวจในครั้งนี้ ผู้ประกอบการคิดว่ารัฐบาลควรดำเนินการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนี้ เช่น การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น การเร่งดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รัฐบาลควรรีบดำเนินการชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ประสบเหตุ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 40.5% ยังคงมีความเชื่อมั่นมากต่อระบบการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ รองลงมา 33.8% เชื่อมั่นในระดับปานกลาง ในขณะที่ผู้ประกอบการ 8.1% ไม่มีความเชื่อมั่นเลย