นายกฯ เปิดด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ พร้อมสั่งลุยแผนแม่บทระบบขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาค-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2016 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำพิธีเปิดใช้ทางพิเศษ สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการเช้าวันนี้ หลังจากนั้นได้นั่งรถประจำตำแหน่งผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางเป็นปฐมฤกษ์เพื่อเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ จะมีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบหลังเวลา 12.00 น.เป็นต้นไป

สำหรับทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เป็นเส้นทางช่วยระบายการจราจรจากทางพิเศษศรีรัช บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 ข้ามไปฝั่งตะวันตกของ กทม. และมาสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอก โดยมีแนวสายทางเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันออก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพระราม 6 จากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟจนถึงจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ระยะทางรวมประมาณ 16.7 กม.

รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง คือ ทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกและทางแยกต่างระดับบางซื่อ มีทางขึ้น-ลง 6 แห่ง คือ บรมราชชนนี ราชพฤกษ์ บางบำหรุ จรัญสนิทวงศ์ พระราม 6 และ กำแพงเพชร 2 และมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ จำนวน 10 ด่าน สำหรับค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ มีอัตราค่าผ่านทางเป็นแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง สำหรับรถยนต์แต่ละประเภท ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท, รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 115 บาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศเจริญก้าวหน้า สิ่งสำคัญคือระบบขนส่งและการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไปมาของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งระบบ ต้องพัฒนาทั้งระบบและมีความเชื่อมโยงกัน การสร้างทางด่วนพิเศษเป็นการลดความเดือดร้อนของประชาชน ลดความติดขัดทางการจราจร เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ ประเมินว่าอีก 1-2 ปี จะมีคนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ 12-15 ล้านคน เพราะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการสร้างทางด่วนหรือการคมนาคมขนส่งต่างๆ ก็อาจยังไม่เพียงพอ และหากจะมีการก่อสร้างอย่างอื่นๆ เพิ่มเติมก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะอาจเกิดความขัดแย้งกับประชาชน ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องขยายความเจริญไปยังชานเมือง และมุ่งเน้นสร้างสังคมชนบทให้เป็นสังคมเมือง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค ระดับจังหวัดต่อจังหวัด

แต่สิ่งสำคัญต้องทำให้ภูมิภาคมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง พัฒนาสินค้าในแต่ละท้องถิ่นไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ และเมื่อภูมิภาคมีความเข้มแข็ง จะต้องมีความเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ CLMV ด้วย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เชื่อมโยงไปยังประเทศลาว และสามารถเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศยุโรปได้ต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยังฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทเรื่องระบบขนส่ง ให้มีความเชื่อมโยงและระบุแผนงานที่ชัดเจนว่าประเทศจำเป็นต้องมีระบบคมนาคมขนส่งเพิ่มเติมในส่วนใดบ้างทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รวมถึงระบบรถไฟฟ้าโดยต้องเน้นความปลอดภัยในระบบขนส่งต่าง ๆ พร้อมทั้งต้องสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน รวมถึงต้องมีการวางแผนผูกพันงบประมาณภายในปี 60 เพื่อไม่ให้เป็นรัฐบาลกับรัฐบาลหน้า และต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐบาลกำหนดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ