นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคมว่า จะนำเสนอรายงานการเดินหน้าโครงการ East Economic Corridor ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้ โครงการ East Economic Corridor จะมีโครงการลงทุน 4 โครงการสำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง , สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือขนส่ง และท่าเรือเฟอร์รี่
"ถ้าเข้าครม.แล้วก็จะเริ่ม operate ต้นปีหน้าก็วิ่งฉิว อยากเห็นโครงการ East Economic Corridor ในไตรมาส 4 "นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ก่อนนำเสนอ ครม. ขณะที่สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือจุกเสม็ด มีกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ จะใช้งบประมาณของกองทัพเอง
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 31 ส.ค. จะนำเสนอภาพรวมโครงการ East Economic Corridor ภาพการใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ศูนย์ซ่อมท่าอากาศยาน อู่ตะเภา การสร้างถนนที่ยังไม่ครบถ้วน การพัฒนาเมืองกับชุมชนเพื่อรองรับการเติบโต
นอกจากนี้ จะนำเสนอการพัฒนาการใช้พื้นที่สองข้างทางแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-ระยอง , กรุงเทพ-หัวหิน, กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ และ กรุงเทพ - นครราชสีมา แต่จะดำเนินการเส้นทาง กรุงเทพ-ระยองก่อน โดยมี 5 สถานีที่มีศักยภาพ ได้แก่ พัทยา ชลบุรี ศรีราชา ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ซึ่งผลการศึกษาจะประเมินรายได้หากนำพื้นที่ทั้งในสถานีและรอบสถานีมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากนั้นจึงจะเข้าขั้นตอน Market Sounding กับภาคเอกชน แล้วจึงจะเข้าขั้นตอนเปิดให้เอกชนร่วมลักษณะ PPP หรือ เอกชนร่วมงานภาครัฐ
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยองผ่านครม.แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ราวต้นปี 60
ขณะที่ท่าเรือเฟอร์รี่ กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างเขิญชวนให้เอกชนเดินเรือเฟอร์รี่ ได้แก่ ศรีราชา, พัทยา ไป ชะอำ
ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นนั่น นายอาคมกล่าวว่า เส้นทางที่จะร่วมมือยังคงเดิม คือ กรุงเทพ-พิษณุโลก โดยทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าผลตอบแทนที่ได้จากค่าโดยสาร และการพัฒนาที่ดิน และคาดว่าจะนำเสนอผลดังกล่าวต่อ ครม.ในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้เดินหน้าต่อในขั้นตอนการออกแบบโครงการ
สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมานั้นจะมีการหารือร่วมกันครั้งที่ 13 ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ที่ปักกิ่ง โดยจะหาข้อสรุปแบบของรถไฟตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ซึ่งจีนเป็นผู้ออกแบบ ส่วนอีก 2 ตอน คือตอนที่ 2 มีระยะทาง 11กม. จีนจะส่งแบบในเดือน พ.ย.59 และตอนที่ 3 ระยะทาง 110 กม.จะส่งแบบในเดือน ก.พ. 60
นอกจากนี้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนจะร่วมกันร่างสัญญาการออกแบบและงานก่อสร้างของโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา หากเซ็นสัญญาดังกล่าวได้จะเปิดประมูลจ้างเอกชน ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้จะรายงานความคืบหน้าต่อครม.