นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเองจะเป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ณ ราชอาณาจักรภูฏาน การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Trade and Economic Cooperation Agreement) ระหว่างไทยกับภูฏานเมื่อปี 2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
"การประชุมครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้การค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายขยายตัวมากขึ้น โดยจะหารือความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น การค้า การลงทุน (ก่อสร้าง โรงแรม) เกษตร เป็นต้น ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงแรม คือ Haven Paro Resort และ บริษัท D2 ภายใต้เครือดุสิตธานี" นางอภิรดี กล่าว
สำหรับราชอาณาจักรภูฏานเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก ไม่มีทางออกทางทะเล และมีสถิติการค้ารวมกับไทยในปี 2558 เพียง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และอันดับที่ 166 ของไทยในโลก เป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 148 และแหล่งนำเข้าของไทยอันดับที่ 208 อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรภูฏานเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยแน่นแฟ้นและใกล้ชิดตลอดมา โดยมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดผ่านสายสัมพันธ์ของพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ประชาชนของทั้งสองประเทศก็ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือราชอาณาจักรภูฏานผ่านโครงการความช่วยเหลือด้านต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งในด้านการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 15.10 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 38 ต่อปี การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 14.98 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 39.12 ต่อปี และมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 0.008 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ย 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.69 ต่อปี
สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ผ้าผืนเครื่องจักรกลและชิ้นส่วนประกอบของเครื่อง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สิ่งทออื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าจากภูฏาน เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ อื่นๆ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ผ้าผืน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น