นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชุดใหม่ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการชุดเดิมดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปีแล้วเมื่อวันที่ 5 ส.ค.59
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ มี นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ ,นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ,นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ,รองศาสตราจารย์ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า),นางอัญชลี เต็งประทีป ,นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ
คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.จะประชุมนัดแรกวันที่ 25 ส.ค.ซึ่งนายออมสิน ระบุว่า จะเดินทางไปมอบนโยบายด้วยตัวเองก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. โดยจะมอบหมายให้เร่งดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด รวมถึงโครงการที่ค้างอยู่ และโครงการเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางใหม่ ที่ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้ เป็นต้น
"จะไปบอกว่า รถไฟมีงานอะไรที่ต้องทำ งานอะไรที่ค้างมีอะไร และกระทรวงคมนาคมต้องการเร่งรัดทุกงาน เช่น รถไฟความเร็วสูง,รถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับทีโออาร์ การเช่าหัวรถจักร 50 คัน และงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเน้นเรื่องสถานีกลางบางซื่อ ที่แบ่งเป็น 4 แปลง มีแนวทางการพัฒนาอย่างไร โดยต้องการให้บอร์ดช่วยรัดงาน ส่วนที่ดินมักกะสัน มีข้อติดขัดอย่างไร ส่วนสถานีแม่น้ำ มีผลการศึกษาแล้ว บอร์ด ต้องลงไปดูด้วย อยากให้บอร์ดใหม่ข่วนกระตุ้น อะไรที่หมดสัญญา ก็ให้ต่อโดยเร็ว หรือต้องปรับปรุงสัญญา ก็ให้ทำ" รมช.คมนาคมกล่าว
ส่วนรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทางที่เหลือ จะเร่งประกวดราคาในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ติดเรื่องทีโออาร์ที่มีการปรับแก้คุณสมบัติเพื่อให้เปิดกว้างให้มีผู้เสนอแข่งขันได้มากรายขึ้น ซึ่งหากผ่านก็สามารถประมูลได้ทุกเส้นทาง แต่ทั้งนี้คงต้องดูเรื่องคุณภาพของผู้รับจ้างด้วย หากลดเสปกมากเกินไป จะกระทบหรือไม่ โดยมองว่าหากมีผู้เข้าประมูลถึง 15 รายก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว
ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความเห็นชอบโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 20,306 ล้านบาท 2.เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 24,940.96 ล้านบาท และ 3. เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,667.66 ล้านบาท ที่ผ่าน สศช.มาก่อนหน้าแล้ว คาดว่าจะเสนอครม.ได้เร็วๆนี้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ,กรุงเทพ -หัวหิน เตรียมเสนอ เข้าคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP)
"ผมอยากเห็นบอร์ดชุดใหม่ จะช่วยรถไฟแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น" รมช.คมนาคม กล่าว