นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด คาดว่า กำไรปีนี้ทำสถิติสูงสุดใหม่ หลังครึ่งปีแรกมีกำไรแล้ว 335 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะมีกำไร 682 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังทางลีสซิ่งกสิกรไทยยังคงรุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถด้วยแคมเปญการตลาดที่หลากหลายและในทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลัก และได้เน้นการทำตลาดสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพขยายตัวได้ มีคุณภาพหนี้ที่ดี โดยล่าสุดได้เปิดตัวแคมเปญ “สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย แจกหนัก แจกจริง" แจกรถอีซูซุ 4 คัน และคูปองเติมน้ำมัน 100 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านบาท เพียงลูกค้ามีรถยนต์ปลอดภาระ และต้องการเงินทุนหมุนเวียน สมัครใช้บริการสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย
นายทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดตั้งแต่กลางปี 58 ที่ผ่านมา โดยในช่วงที่เหลือของปี 59 จะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.5-2% จากปัจจัยหลักคือ ยอดขายรถยนต์ที่มีโอกาสขยับขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์ยึดรถที่ลดลง การชำระคืนสินเชื่อเดิมที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำในปีนี้ ในส่วนของตลาดรถแลกเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 59 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ในระดับประมาณ 12-14% ใกล้เคียงกับปี 58 ที่ประมาณ 5.1-5.3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรถแลกเงินมีระดับต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้อโดยทั่วไป และยังมีทิศทางปรับตัวที่ดีขึ้นทำให้ตลาดเป็นที่น่าสนใจ สอดคล้องกับทิศทางการตลาดของลีสซิ่งกสิกรไทย
ในส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองในปี 59 คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีก่อน จากราคารถมือสองที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่มีทิศทางถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 56-57 ทำให้ผู้ประกอบการเต็นท์รถมีความมั่นใจที่จะกลับมาสต็อกรถอีกครั้ง เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่มีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Floor Plan) ให้กับธุรกิจเต็นท์รถ ในขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่มีผลตั้งแต่ต้นปี มีส่วนทำให้ราคาของรถใหม่และรถมือสองบางรุ่น มีความแตกต่างกันมากขึ้น ประกอบกับอำนาจซื้อรถยนต์ใหม่ของผู้บริโภคยังถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความต้องการรถมือสองยังได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้ประกอบการรถมือสองหลายราย รวมตัวกันสร้างมาตรฐานด้วยการรับประกันคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อถือต่อผู้บริโภค ขณะที่ความเสี่ยงของสินเชื่อรถมือสองลดลง หลังจากราคาหยุดไถลลง มีผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อหันมาทำตลาดรถมือสองเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 (57-59) ด้วยการเพิ่มวงเงินจัดสินเชื่อในรถบางรุ่น และมีการออกรายการส่งเสริมการขายผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นระยะ ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไม่น้อยกว่า 30% และในปี 60 คาดว่าตลาดรถบิ๊กไบค์จะมีโอกาสขยายตัวได้เนื่องจากยังมีช่องว่างตลาดให้รุกได้พอสมควร
สำหรับแนวโน้มตลาดรถตลอดทั้งปี 59 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า โดยรวมจะหดตัวลง 4–7% หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์ทั้งปีที่ 740,000-770,000 คัน โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจจะมีโอกาสหดตัวได้ถึง 7-14% เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่
ด้านเซ็กเมนต์ที่มีโอกาสเติบโตได้ในปีนี้ ได้แก่ รถกระบะดัดแปลง PPV รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (B-SUV) และรถปิกอัพ 1 ตัน จากปัจจัยรสนิยมการขับขี่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงรายได้เกษตรกรที่กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะรถกระบะดัดแปลง PPV นับว่าเป็นรถประเภทที่มีการเติบโตในตลาดไทยสูงสุด หลังการทยอยเปิดตัวของรถรุ่นใหม่ๆ ไปหลายค่ายตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ และเมื่อผนวกกับความนิยมในกลุ่มรถอเนกประสงค์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบและสภาพถนน ทั้งเพื่อการใช้งานและท่องเที่ยวที่มากขึ้น รวมถึงรุ่นที่ออกมาใหม่เหล่านี้ยังเป็นรุ่นปรับโฉมใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสให้กลุ่มผู้ซื้อหลักที่มีกำลังซื้อและชื่นชอบรถประเภทนี้อยู่เดิมได้ตัดสินใจซื้อ ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปี 59 รถกระบะดัดแปลง PPV มียอดจำหน่าย 32,130 คัน และขยายตัวกว่า 109% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ในปี 60 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 4 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขยอดขายรถยนต์อาจกลับขึ้นไปแตะระดับ 800,000 คัน หรือใกล้เคียง คิดเป็นการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ราว 6% โดยมองว่าผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่น่าจะดีขึ้น ก็เป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดรถในปีหน้า อย่างไรก็ตามภาวะหนี้ครัวเรือนก็ยังอาจเป็นปัจจัยกดดันตลาดในระยะข้างหน้า