ก.พลังงานเตรียมเสนอ กบง.ทบทวนแผนพลังงานทดแทนฯ หลังกำลังการผลิตเข้าระบบเร็วกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2016 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ต้องการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงเป็นถ่านหินเพิ่มขึ้น รวมทั้งเดินหน้าควบคู่กับพลังงานทดแทนและแผนประหยัดพลังงาน โดยปัจจุบัน 5 แผนภายในแผน PDP2015 ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แต่ในระยะยาวจะต้องมีการทบทวนแผนต่าง ๆ อาทิ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ที่จะต้องเข้ามาดูความชัดเจนสัมปทานปิโตรเลียม ,แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้นมาก เนื่องจากมีราคาถูก และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่พบว่าขณะนี้มีกำลังการผลิตเข้าระบบเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะทบทวนแผนดังกล่าวต่อไป โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น การพยากรณ์ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องยาก จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีย้อนหลัง หากเศรษฐกิจโต 10% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะโต 11.3% แต่เมื่อปี 57 ที่ผ่านมา พบว่าการใช้ไฟฟ้าโต 3.2 เท่า

ขณะเดียวกันเป้าหมายพลังงานทดแทนตามแผน AEDP ที่จะมีทั้งสิ้น 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 79 นั้นก็พบว่าในปี 59 มีสัญญาผูกพันแล้ว 9.2 พันเมกะวัตต์ และจะทยอยเข้าอีก 1 พันเมกะวัตต์ภายในปี 60 ดังนั้น จึงนับว่าเข้ามาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้กกพ.ยังห่วงเรื่องมาตรการประหยัดพลังงาน เนื่องจากที่ผ่านมาจะเป็นเพียงการออกมาตรการจูงใจเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการให้เป็นไปตามเป้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 79 จะต้องออกมาตรการบังคับต่อไป

ส่วนนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่ากิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานเสวนา “ไฟฟ้าไทย อย่างไรจะลงตัว" ว่า ตามแผน PDP2015 ต้องการกระจายเชื้อเพลิงจากปัจจุบันต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก 70% มาเป็นเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% เป็น 20-25% ในช่วงปลายแผนปี 79 แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน ทางกระทรวงพลังงานก็มีแผนรองรับ คือให้บมจ.ปตท. (PTT) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

"สาเหตุที่ กฟผ. ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินมีราคาถูกกว่า และสต๊อกถ่านหินมีเป็น 100 ปี ดังนั้นจึงช่วยตอบโจทย์ด้านเชื้อเพลิงได้"

ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ในแผน PDP2015 ที่จะมีสัดส่วน 5% ในปี 79 ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการณ์อย่างน้อย 7-8 ปี และใช้ระยะเวลาก่อสร้างอีก 10 ปี ดังนั้น ภาครัฐควรเริ่มสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคประชาชนเพื่อทำความเข้าในโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น

ด้านนายสุวัฒน์ กมลพนัส รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งพบว่าจากนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ ก็มีผู้ประกอบการหลายรายตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อตัดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) มากขึ้น

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ส่วนตัวมองว่านโยบายของภาครัฐต้องการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นครัวของโลก ดังนั้น หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดปัญหาขึ้น ถามว่าจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่

นางสุวพร ศิริคุณ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีการวางเป้าแผน PDP2015 ไว้อย่างชัดเจน แต่สิ่งอยากเห็นคือมาตรการผลักดันให้สามารถเดินหน้าตามแผนได้ ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนมากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ