ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ค.59 พบว่า เงินให้สินเชื่อสุทธิปรับลดลง 9.6 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อน สู่ระดับ 10.42 ล้านล้านบาท จากการหดตัวของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก) ตามการชำระคืนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และสินเชื่อเช่าซื้อ ส่งผลให้ตัวเลขภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบเติบโตชะลอลงมาที่ระดับ 2.02% YoY และ หดตัว -0.46% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน
ส่วนเงินฝากยังคงปรับลดลงเล็กน้อย 1.5 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 11.225 ล้านล้านบาท โดยมีผลกระทบจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำและเงินฝากประจำแบบพิเศษในบางธนาคาร อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน เงินฝากยังขยายตัว 2.27%YoY และ 0.26% YTD เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน
สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เดือนกรกฎาคม 2559 ผ่อนคลายลงตามการปรับลงของสินเชื่อที่มีสัดส่วนมากกว่าการไหลออกของเงินฝากในระบบ โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ปรับลดลงสู่ระดับ 90.73% เทียบกับระดับ 91.41% ในเดือนมิถุนายน สอดคล้องกับทิศทางของเครื่องชี้สภาพคล่องอีกตัวหนึ่ง คือ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 20.79% จากระดับ 20.03% ในเดือนก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในระยะถัดไปที่อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่เคยประเมินไว้ที่ระดับ 4.0% โดยต้องจับตาการชำระคืนสินเชื่อของภาครัฐ และผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ชำระคืนสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง (หลังจากส่วนหนึ่งได้หันไประดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้) ทำให้ยังไม่เห็นการเติบโตของสินเชื่อรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.)
อย่างไรก็ตาม ภาพการเติบโตของสินเชื่อที่ช้ากว่าคาด คงทำให้แนวทางการบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มุ่งประเด็นไปที่การบริหารดอกเบี้ยจ่ายให้เหมาะสมและการรักษาฐานลูกค้าเป็นหลัก ท่ามกลางปริมาณสภาพคล่องในระบบธนาคารที่ยังเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจหลักในระยะถัดไป ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตของเงินฝากมีโอกาสชะลอลง สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับประเด็นการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงจาก 25 ล้านบาทสู่ 15 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างจำกัดต่อผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และสภาพคล่องในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 15 ล้านบาท ยังสามารถครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ในผลิตภัณฑ์เงินฝากได้ทั้งหมด (หรือครอบคลุมจำนวนบัญชีเงินฝากกว่า 99.9% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์) ขณะที่ผู้ฝากเงินบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง อาจมีการปรับตัวล่วงหน้าไปแล้ว ด้วยการโยกย้ายเงินออมบางส่วนไปยังสถาบันการเงินอื่น หรือสู่ผลิตภัณฑ์การเงินอื่น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์สภาพคล่องในระบบธนาคาร ท่ามกลางความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ในระดับสูง และสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่คงเริ่มมีภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในระยะที่เหลือของปี