นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 59 (1 เม.ย. – 30 มิ.ย.59) ว่าในส่วนโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ หลังปิดโครงการฯ เมื่อเดือนมิ.ย. 59 ที่ผ่านมา กยท. รับซื้อยางได้ทั้งหมด 2,892 ตัน จากเกษตรกร 26,676 ราย ใช้เงินไปเพียง 122 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 10 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีการลดความต้องการใช้ยางภายในหน่วยงาน จากเดิมแจ้งมาที่ 80,580 ตัน (ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559) มาเป็น 4,844 ตัน (ข้อมูล 7 มิถุนายน 2559) เนื่องจากหลายหน่วยงานยังติดปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และบางหน่วยงานลดการใช้ยางจากเดิมในปีงบประมาณนี้ แต่ได้เตรียมแผนดำเนินการจัดซื้อยางเพิ่มเติมในปี 60 ต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐมีการแจ้งแผนการรับมอบยางที่ชัดเจนมาเพิ่มเติม กยท.จะเร่งประสานกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ในการจำหน่ายยางให้หน่วยงานภาครัฐต่อไป
ปัจจุบัน กยท.ได้จำหน่ายยางในโครงการฯ ให้กับผู้ประกอบกิจการยางในประเทศไปแล้ว จำนวน 980 ตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3,4,5 และยางคัตติ้ง จำนวน 73 ตัน และยางแท่ง STR20 จำนวน 907 ตัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในด้านคุณภาพ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และมียางในโครงการฯ คงเหลือในสต๊อกอีกจำนวน 1,960 ตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควันอัดก้อน จำนวน 1,229 ตัน ยางแท่ง STR20 จำนวน 724 ตัน น้ำยางข้น จำนวน 2 ตัน และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3,4,5 และยางคัตติ้ง จำนวน 3 ตัน ซึ่ง กยท. จะพิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการจัดจำหน่ายยางที่คงเหลือในสต๊อกต่อไป
นอกจากนี้ กยท.ได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่จัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market: RRM) ซึ่งเป็นตลาดยางซื้อขายในภูมิภาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพื่อทำการกำหนดข้อบังคับ กฎระเบียบอนุญาโตตุลาการและตลาด รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโรงงานผู้ผลิตที่จะเข้ามาใช้บริการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงาน ร่างข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับการซื้อขายยางรวมถึงควบคุมและกำกับการดำเนินงานของตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค ให้เป็นไปตามโยบายกำหนด นอกจากนี้ กยท. ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อนำนโยบายต่างๆ มากำหนดแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด การซื้อขายในระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ ประสานงานสมาชิกผู้ซื้อขาย ดูแลระบบการเงินและบัญชี สัญญา ตรวจสอบปริมาณและคุณของสินค้าเพื่อรับรองก่อนเข้าตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล โฆษก กยท. กล่าวว่า กยท.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อดำเนินการออกใบรับรองคุณภาพไม้ยางพาราหรือ (ทีเอฟซีซี) โดยที่ กยท. จะเข้ามามีบทบาทในฐานะคณะกรรมการด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่รับการสนับสนุนการปลูกแทนจาก กยท. เมื่อมีความต้องการโค่น หรือตัดเพื่อปลูกแทน และต้องการส่งออกไม้ยางพารา ราคาไม้ยางพาราเหล่านี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดระยอง คาดว่าโครงการสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินกลางปีหน้าอย่างแน่นอน
เนื่องจากตามที่พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ระบุไว้ว่ายางพาราไม่ใช่แค่น้ำยางพาราเท่านั้น แต่รวมถึงไม้ยางพาราด้วย ซึ่งประเทศไทยส่งออกไม้ยางพารามูลค่ามากถึง 4.5 พันล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันไทยส่งออกไม้ยางพาราแค่ในประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป และประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการไม้ยางพารา แต่เนื่องจากถ้าไม่มีการรับรองคุณภาพไม้ยางในระดับสากล จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้
ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตอนนี้ กยท.เขตทุกเขต ได้เปิดให้เกษตรกรมาแจ้งข้อมูล แต่มิใช่เป็นการรับรองสิทธิการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตาม พ.ร.บ.การยางฯ และความชอบธรรมในการครอบครองสิทธิ แต่เป็นการแจ้งข้อมูล เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นที่การปลูกยางพารา เพื่อที่ กยท. จะดำเนินการกำหนดนโยบายด้านยางพารา”