นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดได้มีมติให้เร่งฟื้นฟูกิจการว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ SME Bank, บมจ.ทีโอที (TOT), บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บมจ.การบินไทย (THAI) มีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยสามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะที่รัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่ง ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ IBank และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังคงมีปัญหาที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนการฟื้นฟู
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่ทำตามแผนได้ในระดับที่ดีมาก คือ การบินไทย ที่สามารถกลับมามีกำไรได้จากปีก่อนที่ขาดทุน ส่วน SME Bank ก็ดำเนินการได้ตามเป้า โดยสามารถมีกำไร และลดยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลงได้ รวมทั้งยังขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยได้
ส่วนทีโอที และ กสท. ดำเนินการได้เป็นไปตามแผน คือ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และหันมาร่วมกันพัฒนาระบบโทรคมนาคม เพื่อไม่ต้องเกิดปัญหาในการแย่งกันลงทุน โดยทีโอทีจะเน้นการลงทุนบอร์ดแบนด์ในประเทศเป็นหลัก ส่วนการลงทุนเรื่องเคเบิลใต้น้ำ และ data center ก็ให้ กสท. เป็นหลัก
นอกจากนี้ ขสมก.เองก็มีการแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างการเดินรถ กับการให้ใบอนุญาตการเดินรถออกจากกัน โดยจะให้กรมการขนส่งทางบกเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่ง ขสมก.จะเหลือเพียงบทบาทในด้านการเดินรถเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่อไปจะต้องมีการปฏิรูปการเดินรถ และมีการพิจารณาอย่างจริงว่าเส้นทางไหนก่อให้เกิดผลกำไรหรือผลขาดทุน
นายเอกนิติ กล่าวว่า สำหรับรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ค่อนข้างล่าช้า คือ รฟท. และ IBank โดยในส่วนของ รฟท.นั้น เห็นว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้สามารถพลิกฟื้นจากภาวะขาดทุนและมีผลประกอบการดีขึ้นได้ คือ ที่ดินที่อยู่บริเวณสองข้างทางรถไฟกว่า 36,000 ไร่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาและบริหารจัดการที่ดินในส่วนนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดินดังกล่าวได้
"เรื่องที่ดิน ตัวนี้จะเป็นหัวใจหลักสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของรถไฟ และทำให้การรถไฟเข้มแข็งขึ้น ทาง คนร.จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในการดูแลอสังหาริมทรัพย์ และมีผู้แทนจากกรมธนารักษ์ สคร. และ รฟท.มาช่วยโฟกัสในจุดนี้ ซึ่งเราจะนัดประชุมวันที่ 7 ก.ย.นี้" นายเอกนิติกล่าว
ส่วน IBank นั้น คนร.ได้ให้นโยบายไปแล้วในเรื่องที่จะให้กระทรวงการคลังจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งคาดว่านำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะแยกหนี้เสียที่มีอยู่กว่า 53,000 ล้านบาท ออกมาบริหารจัดการ เพื่อให้ IBank สามารถทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ตามหลักศาสนาอิสลาม และสร้างความเข้มแข็งของธนาคารให้กลับมา
สำหรับการหาพันธมิตรร่วมทุนนั้น ยอมรับว่ามีหลายรายที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมทุนใน IBank แต่ยังติดปัญหาที่ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ยังติดลบอยู่ในระดับสูงถึง 20% ดังนั้น จึงต้องการให้ธนาคารมีการบริหารจัดการ BIS ให้ลดลงเหลือ 0% ก่อนเป็นอย่างน้อย
"ธนาคารอิสลามที่ขาดทุนค่อนข้างมากนั้น เราจะตั้ง AMC มาบริหารหนี้เสีย จะได้ทำให้ธนาคารสามารถทำหน้าที่ตามหลักศาสนาอิสลามได้ตามที่ควรจะเป็น อะไรที่เป็นหนี้เสีย ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหนี้เสียตามหลักศาสนาอิสลามให้โอนมาอยู่ AMC และกระทรวงคลังจะถือหุ้น 100%" นายเอกนิติ กล่าว
ผู้อำนวยการ สคร. ยังกล่าวถึงบทบาทของ สคร.ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สคร.ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลในหลายด้าน เช่น 1.การใช้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนชะลอตัว 2.การขับเคลื่อนการส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ให้รวดเร็วขึ้น โดยจะเห็นได้จากการผลักดันให้เกิดโครงการ PPP Fast Track ใน 5 โครงการ คือ รถไฟฟ้า 3 สาย และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 สาย
3.การใช้นโยบายรักษาเสถียรภาพทางการคลัง โดยจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 (ต.ค.58-ก.ค.59) รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้แล้ว 1.1 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 6,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.6% ซึ่งเชื่อว่าตลอดทั้งปีงบประมาณ 59 จะสามารถจัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.24 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน อันจะช่วยให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมาย และมีส่วนในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ สคร.ได้สร้างเครื่องมือทางการเงินเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลัง เช่น การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการที่ภาครัฐไม่ต้องกู้เงินและกันเงินงบประมาณแผ่นดินมาไว้ใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งคาดว่ากองทุนนี้จะสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
4.นโยบายสร้างความเข้มแข็งให้รัฐวิสาหกิจในระยะยาว ซึ่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งในมาตรการนี้ เช่น การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมครม.ไปแล้ว คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และน่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 60
5.การแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้ว 5 แห่ง และอีก 2 แห่ง ยังดำเนินการได้ล่าช้ากว่าแผนดังที่กล่าวไปข้างต้น