กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นประเทศไทยหลังผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,215 คน ระหว่งวันที่ 23-25 ส.ค.59 พบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเฉลี่ยในภาพรวม 5.41 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา 0.42 คะแนน โดยเชื่อมั่นด้านการเมืองมากที่สุด (5.59 คะแนน) รองลงมาคือด้านเศรษฐกิจ (5.38คะแนน) และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (5.27 คะแนน)
เมื่อแยกพิจารณาจากด้านที่ได้ความเชื่อมั่นมากที่สุดไปน้อยที่สุดพบว่า ความเชื่อมั่นด้านการเมืองในภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 5.59 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.47 คะแนน (5.12 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านการเมืองที่ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นมากที่สุดคือ ด้านความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน/คสช. (6.15 คะแนน) ขณะที่ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น (5.03 คะแนน) ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจในภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 5.38 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.31 คะแนน
(5.07 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ด้านความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน (5.96 คะแนน) ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ด้านฐานะทางการเงินของประเทศ (5.01 คะแนน)
ส่วนความเชื่อมั่นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ได้คะแนนเฉลี่ย 5.27 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.49 คะแนน (4.78 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.05 คะแนน)
ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ด้านความรักและความสามัคคีของคนในชาติ (4.93 คะแนน) และเมื่อถามถึงทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หลังจากผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.8 เห็นว่าจะดีขึ้นและเดินมาถูกทางแล้ว ขณะที่ร้อยละ 31.8 เห็นว่ายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนร้อยละ 7.1 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม ที่เหลือร้อยละ 5.3 ไม่แน่ใจ