ไทย-ภูฏานเร่งขยายความร่วมมือด้านการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว สู่เป้าหมาย"2 Kingdoms 1 Destination"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยและภูฏานครั้งแรก (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค.59 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยมีประเทศภูฎานเป็นเจ้าภาพนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดย รมว.พาณิชย์ ของทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น มุ่งเน้นแสวงหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนที่เป็นรูปธรรม

โดยด้านการค้าและการลงทุนนั้น แม้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การค้ามีการขยายตัวมากกว่า 100% และสินค้าส่วนใหญ่ของภูฏานสามารถส่งออกมาไทยโดยไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ภายใต้ระบบ Duty-Free Quota-Free ที่ไทยให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นอกจากนั้น การที่รัฐบาลภูฏานมีนโยบายสนับสนุนและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในสาขาต่างๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว โรงแรมและรีสอร์ท การบริการสุขภาพ/การรักษาพยาบาล เป็นต้น

ในการนี้ ภูฏานจะจัดคณะมา Road Show ที่เมืองไทยในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อแนะนำศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูฏาน โดยจะครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยรู้จัก นอกจากนั้น ฝ่ายไทยจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งเสริมการลงทุนให้ภูฏานด้วย

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและภูฏานมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายสาขา โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการเกษตร ทั้งนี้ สาขาที่ไทยและภูฏานเห็นพ้องให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว โดย 2 ฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด "2 Kingdoms 1 Destination" รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงศาสนา ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยภูฏานต้องการให้ไทยขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรม High End และฝ่ายไทยจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโรงแรม

2.การเกษตร โดยไทยได้ให้ความร่วมมือด้านการเกษตรกับภูฏานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการจัดอบรมและการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และเทคนิคการผลิตแก่เกษตรกรภูฏาน สองฝ่ายจะพิจารณาขยายความร่วมมือเกี่ยวกับการดูแลผลิตภัณฑ์หลังเก็บเกี่ยว การวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการทดสอบและการพัฒนาห้องแลป เป็นต้น

3.การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม (Handicraft) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีที่จะถ่ายความรู้และประสบการณ์การพัฒนาการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าของภูฏานมีความหลากหลายและมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและมีความสนใจร่วมกัน

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม JTC นาง Phub Zam ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมภูฏานและคณะ ได้เข้าพบ รมว.พาณิชย์ และแจ้งว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนภูฏานต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ เกษตร ท่องเที่ยว ก่อสร้าง ป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ การศึกษา การทำภาพยนตร์ และการพัฒนา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประสานงานและประชาสัมพันธ์ศักยภาพของภูฏานให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนไทยต่อไป

อนึ่ง ภูฏานเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดเล็กที่ไม่มีทางออกทะเล มีประชากรประมาณ 7 แสนคน และพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ อินเดียเป็นหลัก โดยในปี 2558 ปัจจุบันภูฏานคู่ค้าอันดับที่ 166 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 11.6 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกมีมูลค่า 11.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามีมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน, ผ้าผืน, เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนประกอบของเครื่อง, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ไม้ซุง, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ