รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดเดินขบวนรถรุ่นใหม่เที่ยวปฐมฤกษ์ในเส้นทางกรุงเทพ-นครปฐม โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท.ร่วมในพิธีเปิดและเดินทางไปกับขบวนรถดังกล่าว
"ดีใจที่เห็นรถไฟไทยพัฒนาจนมีความทันสมัยและก้าวหน้าไปอีกขั้น ตรงกับความตั้งใจที่รัฐบาลพยายามมุ่งมั่นทำทุกอย่างให้ดีขึ้น โดยรถไฟรุ่นใหม่ถือเป็นรถไฟสำหรับอนาคต ซึ่งรัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด พร้อมทั้งจัดทำรถไฟรางคู่เชื่อมต่อการสัญจรของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นช่องทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง แต่ต้องใช้เงินลงทุนค่อยข้างสูงแต่จะทยอยดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณ" นายกรัฐมนตรี ระบุ
อนึ่ง การจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของ รฟท.สอดคล้องกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท.วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.53 วงเงินลงทุน 4,981.05 ล้านบาท และที่ผ่านมา รฟท.รับมอบรถล็อตแรก 39 คัน จากบริษัท CRRC (China Railway Rolling Stock Corporation) หรือ CRC (Changchun Railway Vehicles Company Limited) บริษัทคู่สัญญา เมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 ที่ผ่านมา และมีการทดสอบการเดินรถทั้งระยะใกล้และระยะไกลมากว่า 1 เดือน ก่อนจะนำมาเปิดให้บริการขบวนรถด่วนพิเศษเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เป็นเส้นทางแรกในเดือน ต.ค.59 นี้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การเปิดการเดินรถโดยสารชุดใหม่เที่ยวปฐมฤกษ์ในวันนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของ รฟท.ที่มีการเริ่มเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาระบบรางของประเทศให้มีความสมบูรณ์และส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ
และในอนาคต รฟท.จะพัฒนาองค์กรไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางอย่างจริงจัง เพราะทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญและเล็งเห็นตรงกันว่า ถ้าระบบรางมีความสมบูรณ์สามารถขยายระบบทางคู่ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้จะสามารถตอบโจทย์ของการขนส่ง แก้ไขปัญหาเรื่องการจราจร และจากยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จะช่วยยกระดับการขนส่งทางรถไฟ ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุน ทำให้การขนส่งระบบรางกลับมาเป็นทางเลือกสำคัญของประชาชนคนไทยอีกครั้ง
ด้านนายวุฒิชาติ กล่าวว่า รถไฟขบวนพิเศษแต่ละเที่ยว ประกอบไปด้วย รถ Power Car ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟให้รถโดยสาร ทั้งขบวน จำนวน 1 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 2 จำนวน 9 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถวีลแชร์ จำนวน 1 คัน รถปรับอากาศนั่ง และนอน ชั้น 1 ระดับเฟิร์สคลาส จำนวน 1 คัน และรถขายอาหารปรับอากาศ จำนวน 1 คัน
ภายในขบวนรถมีระบบการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ติดตั้งระบบสัญญาณ Wi-Fi ติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งข้อมูลข่าวสารพร้อมเครื่องขยายเสียง ปุ่มเรียกพนักงานฉุกเฉิน ห้องอาบน้ำ ปรับปรุงห้องสุขาใหม่ให้มีระบบเก็บสิ่งปฏิกูล เป็นต้น ขบวนรถนี้สามารถวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากใช้ทางคู่กับโครงการรถไฟทางคู่ที่แล้วเสร็จจะสามารถเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น 3 ชั่วโมง
รฟท.จะนำขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่มาวิ่งเป็นขบวนรถด่วนพิเศษใน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพ–เชียงใหม่ กรุงเทพ-อุบลราชธานี กรุงเทพ-หนองคาย และกรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับวันละ 2 ขบวนต่อวัน รวม 8 ขบวน ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ ประมาณ 0.9 ล้านคนต่อปี มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 785.1 ล้านบาท (ปีที่ 1) อายุโครงการ 25 ปี