นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/59 พบว่า มีการจ้างงาน 37,393,472 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.9% โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 6.2% แม้ว่าภัยแล้งสิ้นสุดลงแต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 57 ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9
ส่วนภาคนอกเกษตรมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 1.4% สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสาขาก่อสร้าง การขนส่ง โรงแรมและภัตตาคาร และการค้าปลีกทำให้มีการจ้างงานในสาขาดังกล่าวเพิ่มขึ้น 5.4% 1.4% 4.0% และ 1.4% ตามลำดับ ส่วนการจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่อง 1.7% เป็นไตรมาสที่ 3
ขณะที่การว่างงานเพิ่มขึ้น ในไตรมาส /59 มีผู้ว่างงาน 411,124 คน เพิ่มขึ้น 22.3% และคิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.08% เทียบกับ 0.88% ในไตรมาสเดียวกันของปี 58 โดยผู้ที่ทั้งเคยและไม่เคยทำงานมาก่อนมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 31.3% และ 13.7% ตามลำดับ ในส่วนของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีที่แล้วนั้นสอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้น 8.9% ซึ่งเป็นการว่างงานจากกรณีเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 34.8% และจากกรณีลาออกเพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ประมาณ 47% ของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วถึง 7.0%
รายได้ของแรงงาน พบว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์และผลตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยรายได้ของแรงงานภาคนอกเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.4% แต่รายได้ของแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลง 2.7% ผลิตภาพแรงงานเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 4.5% โดยเป็นภาคเกษตรขยายตัว 6.5% และนอกภาคเกษตรก็มีการขยายตัว 2.3% เป็นการขยายตัวในสาขาการผลิต การค้าส่ง การโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่ง เพิ่มขึ้น 3.8% 4.0% 8.4% 2.0% และ 3.4% ตามลำดับ
สำหรับประเด็นแรงงานที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ การจ้างงานและรายได้แรงงานภาคเกษตร ที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการจ้างงานภาคเกษตรน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการเพาะปลูกที่เข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่การปรับตัวของการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมจากการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.59 พบว่าผู้ว่างงานที่เป็นผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีถูกเลิกจ้างมีจำนวน 27,291 คน คิดเป็นสัดส่วน20% ของผู้ว่างงานที่เป็นผู้ประกันตนและขอรับประโยชน์ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 34.8% เทียบกันช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเร่ง แต่การผลิตเพื่อส่งออกของไทยยังลดลง และผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ต่อไป เริ่มหันมาใช้วิธีปรับลดแรงงานหลังจากที่ได้พยายามปรับตัวโดยการบริหารจัดการต้นทุนในด้านอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
การบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.59 เป็นต้นมา โดยกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีกใน 20 สาขาอาชีพใน 5 อุตสาหกรรม จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างไว้แล้ว 35 สาขาอาชีพ และกระทรวงแรงงานมีแผนการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาศักยภาพตนเองให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรมอันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น โดยจะต้องมีการติดตามการบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างเข้มงวดเพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ในส่วนหนี้สินครัวเรือน การผิดนัดชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงโดยมีมูลค่าเท่ากับ 98,200 ล้านบาทในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้น 4.0% คิดเป็นสัดส่วน 26.3% ต่อ NPLs รวม และคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ต่อสินเชื่อรวม โดยการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 10,527 ล้านบาท ลดลง 33.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3.2% ของยอดสินเชื่อคงค้าง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว 3.0% และคิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของยอดสินเชื่อคงค้าง
ในไตรมาส 2/59 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า คนไทยมีความสุขแต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีอัตราเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพเพื่อสังคมสูงวัย เนื่องจากการที่สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวและมีภาวะการเกิดน้อย ขณะที่ประชากรสูงวัยและอัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น โดยจากข้อมูลจำนวนการเกิดของกระทรวงมหาดไทยปี 2549-2558 พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้คาดประมาณแนวโน้มจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 1.3 คนภายในปี 2583 ซึ่งไม่สามารถทดแทนวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาวะการเกิดที่น้อยอยู่แล้วให้มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก World Happiness Report 2016 ของสหประชาชาติ รายงานถึงดัชนีความสุขโลกโดยรวบรวมข้อมูลจากหลายปัจจัย อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ระบบสังคมสงเคราะห์ รายได้ประชากร อายุขัยของประชากร ความมีอิสระในการตัดสินใจ ความเอื้ออาทร และทัศนคติต่อปัญหาคอร์รัปชั่น แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นค่าความสุขในประเทศต่างๆ 157 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 59 ประเทศไทยมีความสุขมากขึ้นเล็กน้อยมีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 33 ของโลกเมื่อเทียบกับปี 58 ที่อยู่อันดับที่ 34 จาก 158 ประเทศทั่วโลกและมีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน
ขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ในปี 58 คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตของคนไทยอยู่ที่ 31.44 คะแนน ซึ่งลดลงเล็กน้อยมากจากปี 57 ที่คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.48 คะแนน เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 6.07 คนต่อประชากรแสนคนในปี 57 เป็น 6.31 คนต่อประชากรแสนคนในปี 58 โดยพบว่า ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง