ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร-ร่างพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2016 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ....ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อปกป้องให้คนไทยได้บริโภคและใช้สินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ พร้อมปรับระบบการทำงานของส่วนราชการให้กระชับ เพื่อส่งเสริมการส่งออกรวมทั้งเพื่อรองรับ New S-curve และไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ สำหรับร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร มีการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน ด้านที่ 1.เรื่องการอนุญาต ที่จากเดิมทำโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติ และเมื่อแก้ไข พ.ร.บ.นี้แล้ว จะสามารถมอบให้หน่วยงานอื่นช่วยดูแลได้ ทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น เช่น กรมการข้าว ดูแลเรื่องคำขอใบอนุญาตเกี่ยวกับข้าว กรมการปศุสัตว์ ดูแลคำขอที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์

ด้านที่ 2.การกำหนดมาตรฐานบังคับและการยกเว้นบังคับ ที่เดิมจะใช้บังค้บเฉพาะผู้ผลิตเท่านั้น แต่ในอนาคตมาตรฐานดังกล่าว จะครอบคลุมผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกได้แล้วแต่กรณี เนื่องจากมาตรฐานบังคับบางอย่างใช้บังคับเฉพาะสินค้าส่งออกเท่านั้น เช่น การส่งออกไก่ไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม จะไม่กระทบกับสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ

ด้านที่ 3.เครื่องหมายรับรอง จากเดิมมีเพียง 2 แบบ คือ เครื่องหมายบังคับที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องมี และเครื่องหมายโดยสมัครใจที่จะมาขอได้ แต่ในอนาคตเพื่อสามารถรองรับสินค้าเฉพาะบางอย่าง เช่น สินค้าออร์แกนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ ไม่สามารถออกเครื่องหมายรับรองได้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารฯ จะสามารถออกมาตรฐานได้ ขณะเดียวกัน สินค้าฮาลาล ก็จะมีเครื่องหมายฮาลาลรับรองมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกไปได้ทั่วโลก

ด้านที่ 4.การยอมรับสินค้ามาตรฐานบังคับจากต่างประเทศ เดิมต้องมาทำเรื่องขอรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานจากหน่วยงานของไทยอีกครั้ง แต่ในกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จะมีมาตราชัดเจนว่า ถ้ามีประเทศมาตรฐานบังคับทัดเทียมประเทศไทยสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องตรวจ โดยไม่ต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นการยอมรับสองประเทศ และไม่ต้องมีการลงนาม ขณะเดียวกันในประเทศที่มีมาตรฐานแตกต่างจากประเทศไทย หน่วยงานของไทยสามารถมอบหมายให้ประเทศนั้นๆ ตรวจรับรองตามมาตรฐานของหน่วยงานมาตรฐานของไทยได้ โดยคำรับรองจากหน่วยงานต่างประเทศ จึงจะทำให้สะดวกมากขึ้น

และด้านที่ 5.การออกมาตรฐานบังคับกรณีเร่งด่วนกรณีดูแลด้านสุขอนามัยของประชาชน เช่น การปนเปื้อน สามารถออกประกาศได้ทันที โดยที่ไม่ต้องออกกฎกระทรวง และสามารถนำมาตรฐานทั่วไปที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศมาใช้ได้ทันที ส่งผลให้มีความคล่องตัว

ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.รบ.เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เพื่อปรับให้การพิจารณามาตรฐานมีความรวดเร็วขึ้น สอดรับกับการมี New S-Curve และไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อให้สินค้าอุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น แข่งขันได้เร็วขึ้น และให้การคุ้มครองผู้บริโภค

โดยเรื่องแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการวิชาการผู้กำหนดมาตรฐาน จากเดิมแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี แต่หลังแก้ไขแต่งตั้งโดย กมอ. การออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรม จากที่ต้องออกเป็นพระราชกฎษฎีกาที่ใช้เวลามาก เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีประกาศได้เลย ช่วยร่นระยะเวลาการออกประกาศมาตรฐานจากเดิมใช้เวลานานถึง 542 วัน ลดลงเหลือ 180 วันเท่านั้น หรือจากปีครึ่งเหลือเพียงครึ่งปี ทำให้สามารถออกมาตรฐานได้เร็วขึ้น หากเป็นการออกมาตรฐานทั่วไป จะลดระยะเวลาจากเดิมใช้เวลาออกมาตรฐานนาน 390 วัน จะลดลงเหลือ 150 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทลงโทษที่จากเดิมมีบทลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นปรับขั้นต่ำ 50,000 บาท เพิ่มวงเงินปรับขึ้นสูงเป็น 5 ล้านบาท เพื่อปกป้องให้ประชาชนไทยได้รับสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันเพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจและเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมีการดำเนินคดีสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปจำนวน 100 ราย มูลค่า 3,700 ล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ