สศค.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ฟื้นค่อยเป็นค่อยไปรับยอดขายรถยนต์โตหนุนบริโภคดีแม้ลงทุน-ส่งออกยังชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2016 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ค.59 ว่า เศรษฐกิจไทยสะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว

สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวเป็นบวก และภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเขตภูมิภาค สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค.59 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี

นอกจากนี้ สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวลดลง และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่กลับมาหดตัว

การลงทุนภาคเอกชนภาพรวมยังคงมีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -20.8 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศยังหดตัวร้อยละ -4.0 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลัง พบว่ารายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ขยายตัวในระดับสูง โดยรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 174.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นที่ขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะการนำส่งค่าภาคหลวงปิโตเลียมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) และการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล งวดที่ 3 เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรวมเบิกจ่ายได้จำนวน 184.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี จากการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันที่เบิกจ่ายได้จำนวน 176.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -15.6 ต่อปี เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนที่หดตัวลง ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อนเบิกจ่ายได้จำนวน 8.1 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -32.1 พันล้านบาท

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยสินค้าส่งออกที่หดตัว เป็นผลจากการหดตัวในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และในหมวดอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์สามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาล โดยได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีเช่นกันโดยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.2 ต่อปี สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาล โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน กลุ่มประเทศ CLMV อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี จากการผลิตในหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องแต่งกาย และเคมีภัณฑ์ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดเดียวกันที่หดตัว นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 84.7 และปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.3 จากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.8 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0

ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 180.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.3 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ