นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยผลประชุมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการจัดการอสังหาริมทรัพย์พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นำแผนปฎิบัติการไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลแผนแม่บทในการพัฒนาโครงการนี้ให้นำไปสู่ภาคปฎิบัติ พร้อมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต เพื่อเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ มีการนำเสนอข้อมูลในรายละเอียดของโครงการเพื่อให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำไปใช้ในการชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศ
ส่วนแผนการจัดการอสังหาริมทรัพย์พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-ระยอง นั้น ได้หารือถึงรายละเอียดในการพัฒนาเส้นทาง และกำหนดสถานีที่จะใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอัตราตอบแทนทางการเงินให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาและจัดทำแผนงานทั้งหมด โดยหาแนวทางในการเพิ่มรายได้จากพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงให้ได้มากขึ้น
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่ง สนข.เห็นว่า เส้นกรุงเทพฯ-ระยอง มีศักยภาพ และช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้มาก โดยโครงการนี้จะใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP โดยมีวงเงินทั้งโครงการ 1.5 แสนล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี มีแผนให้โครงการแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP
ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า การให้เอกชนเข้ามาลงทุนนั้นควรจะขยายระยะเวลาสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี พร้อมกันนี้ สนข.มีแผนจะเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ากับแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งแอร์พอร์ตลิงค์เองในอนาคตก็มีแผนการเชื่อมต่อไปยังสนามบินดอนเมืองอยู่แล้ว พร้อมกันนี้มีแนวคิดทีจะเพิ่มทางเลือกการใช้เส้นทางที่สถานีปลายทางที่จังหวัดระยอง โดยอาจจะมีการแยกเส้นทางออกไปยังสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทุกสนามบินได้ ซึ่งได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้คณะกรรมการ PPP ไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการนี้
"หากสามารถทำโครงการรถไฟความเร็วสูงได้สำเร็จจะส่งผลดีทำให้การรถไฟฯ มีรายได้จากค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียมในการใช้พื้นที่เป็นเม็ดเงินถึงแสนล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี" นายชัยวัฒน์ กล่าว