นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยืนยันว่า บริษัทมิชลินยังไม่ได้มีการยกเลิกซื้อยางจากเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากปัญหาการใช้กรดซัลฟิวริกตามที่เป็นข่าว ซึ่งวันนี้ทางอนุกรรมมาธิการพิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตร ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญทางบริษัทมาหารือ และได้เชิญทาง กยท.เข้าไปให้ข้อมูลด้วย โดยทาง กยท.พร้อมที่จะชี้แจงทุกประเด็นที่เป็นข้อสงสัย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางกยท.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรยกเลิกการใช้กรดซัลฟิวริก เพราะนอกจากจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพยาง ยังมีปัญหาเรืองสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้เองด้วย รวมทั้งกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่ทำให้เครื่องจักรมีความเสียหายสึกกร่อนเร็ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กยท. ยืนยัน ได้รณรงค์ไม่ให้ใช้กรดดังกล่าว และสามารถลดการใช้กรดดังกล่าวลงกว่า 40% และเชื่ออว่าจะหมดไปในอีก 2 ปีข้างหน้า
ส่วนปริมาณการผลิตในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้มีประมาณ 573,000 ตันและมีพื้นที่ปลูกยางล่าสุด จำนวน 4,726,466 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 3,240,734 ไร่ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรหันมาใช้กรดฟอร์มิก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพยางและฉุดราคายางจนเป็นปัญหาในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่ายางก้อนถ้วยตามหลักการ ต้องกรีด 3 - 5 มีด โดย 1 มีด จะใช้กรด 15 cc
"สาเหตุที่เกษตรกรใช้กรดซัลฟิวริกแทนกรดฟอร์มิกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะต้นทุนของกรดซัลฟิวริกที่ใช้มีราคาแตกต่าง ราคากรดฟอร์มิก 1 ลิตร ราคา 60 บาท ในขณะที่กรดซัลฟิวริก 1 ลิตร ราคา 0.222 บาท พร้อมทั้ง ยังสามารถใช้ได้ในปริมาณที่มากกว่า ทำให้เกษตรกรเลือกใช้กรดนี้ แต่หากยังใช้ก็อาจจะเกิดปัญหาด้านราคาในระยะยาวเช่นกัน"ผู้ว่า กยท. กล่าว
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ กยท. ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ พร้อมชี้แจงให้เกษตรกรได้มีการปรับตัว โดยลดการนำเอากรดกำมะถัน หรือซัลฟิวริก ซึ่งมีราคาถูกมาใช้เพื่อให้นำยางเชทตัวเร็วขึ้น เนื่องจากกรดดังกล่าวทำให้คุณภาพของน้ำยางมีความยืดหยุ่นต่ำ ยางล้อรถยนต์มีคุณภาพและอายุการใช้งานสั้นลง และ ควรนำนำสารชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติในการจับตัวยางตามคำแนะนำทางวิชาการ อย่างกรดฟอร์มิกมาใช้เป็นหลัก
ส่วนกรณีการรับซื้อหรือไม่ซื้อยางที่มาจากภาคอีสานของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของกลุ่มค้ายางบางประการและกำลังตรวจสอบ
เบื้องต้น เกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานผลิตยางพาราในปี 58 อยู่ที่ประมาณ 5 แสนตัน มีเกษตรกรใช้กรด ซัลฟิวลิก ถึง 60% และใช้กรดฟอร์มิก 40% จึงมอบหมายให้ กยท.เร่งชี้แจงทำความเข้าใจต่อเกษตรกร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวของอย่างเร่งด่วน