(เพิ่มเติม1) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ก.ค.โตแบบชะลอตัว เหตุใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว ส่งออกซบเซา-ท่องเที่ยวยังหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2016 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงบ้างหลังได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว และปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนลดลง สำหรับการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งเพราะช่วงเทศกาลถือศีลอด

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลสูงจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ดี และมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราวที่สนับสนุนการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้าลดลง ทั้งการจัดรายการส่งเสริมการขายสินค้าอุปโภคบริโภค และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรกรรมทยอยปรับดีขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวจากภัยแล้ง และรายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงหลังได้เร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อยู่ในช่วงปลายของการดำเนินงานจึงมีเม็ดเงินเหลืออยู่ไม่มาก ด้านรายได้ของรัฐขยายตัวสูงตามการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G และการนำส่งรายได้ค่าใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ขณะที่รายได้ภาษีฐานการบริโภคขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับทิศทางของเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 8.4% จากการหดตัวในหลายหมวดสินค้า ตามปริมาณการส่งออกที่ถูกหน่วงด้วยการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และราคาส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าบางชนิดขยายตัวดี อาทิ สินค้าประมง เนื่องจากผู้ผลิตในต่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากโรคระบาดในกุ้ง ขณะที่อุปทานของไทยมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกแผงวงจรรวมและแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมของหสรัฐฯ ที่ดี

ภาวะการส่งออกสินค้าที่ยังซบเซา ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ 1) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางที่หดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าความต้องการจากอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีนอาจลดลงในระยะข้างหน้า เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ และ 2) การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ แม้มีการลงทุนในภาคบริการ อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหมวดอุปกรณ์สื่อสาร สะท้อนภาวะการลงทุนโดยรวมที่ฟื้นตัวเฉพาะจุด

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว -8.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าหมวดสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบที่หดตัวเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าที่ซบเซาและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนในเดือนนี้ปรับดีขึ้นจากปัจจัยพิเศษตามการนำเข้าเครื่องบินและแท่นขุดเจาะเป็นหลัก

ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว 10.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวดีในทุกกลุ่ม และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลางหลังหมดช่วงเทศกาลถือศีลอด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนและยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีช่วยสนับสนุนให้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องเติบโตต่อเนื่อง เช่นกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเมื่อปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมหลังปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นและมีมากเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดี และมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิตามการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของภาคสถาบันรับฝากเงิน การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย เพราะนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป

นางรุ่ง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่แผ่วลงที่ 1.79 แสนล้านบาท หดตัว -16.3% หลังจากที่เร่งตัวไปก่อนหน้านี้ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ -0.3% หลังปัจจัยชั่วคราวที่สนับสนุนการใช้จ่ายช่วงก่อนหน้าลดลง ส่วนรายได้ภาคการเกษตรทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นช่วงเป็นช่วงฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้ง

ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว -4.5% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยภาวการณ์ส่งออกที่ซบเซา ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว -5.1% และการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหมวดอุปกรณ์สื่อสาร

"เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเดือน ก.ค.เป็นเดือนแรกของไตรมาส 3/2559 คงยังไม่สามารถนำไปประเมินทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งไตรมาสต่อไปได้ ธปท.จะไม่พยายามสรุปตัวเลขการเติบโตจากเดือนเดียว" นางรุ่ง กล่าว

พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่เป็นบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น สินค้าส่งออกที่มีการผลิตซ้ำๆ และกลุ่มเกษตรแปรรูป โดยในการส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.59) ยังหดตัว -2.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.59) จะต้องมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จึงจะทำให้การส่งออกทั้งปีไม่หลุดไปจากเป้าหมายที่ -2.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ