ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะผู้ประกอบการเน้นทำตลาดจับนทท.จากตอ.กลาง หนุนรายได้ช่วงโลว์ซีซั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2016 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ประกอบการผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวและธุรกิจห่วงโซ่ปรับการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องให้สอดคล้องกับวิถีของตลาดนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยโค้งสุดท้ายของช่วงโลว์ซีซั่นน่าจะช่วยก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งตลาดนี้มีศักยภาพ โดยมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับตลาดยุโรป

สำหรับภาพรวมตลาดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลอดทั้งปี 59 จะมีชาวอิหร่านเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนประมาณ 1.08 แสนคน เพิ่มขึ้น 20.2% จากปีก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 15.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจากภูมิภาคนี้ โดยสถิติในปี 53 ชี้ให้เห็นว่า มีชาวอิหร่านจำนวนกว่าแสนคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจากภูมิภาคนี้

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีชาวตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 4.10 แสนคน เติบโต 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของบางตลาด อย่างอิหร่านที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ศักยภาพของไทยทั้งผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับความได้เปรียบในเรื่องการเดินทาง ซึ่งสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยและประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความต่างในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยท้าทายการทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องให้สอดคล้องกับวิถีของตลาดนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องปรับรูปแบบการให้บริการ อาทิ ธุรกิจโรงแรมที่สนใจกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางในช่วงโลว์ซีซั่นนี้ นอกจากจะต้องใส่ใจเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างบริการอาหารฮาลาล ห้องละหมาดและห้องน้ำแล้ว ควรมีการนำเสนอแพ็คเกจห้องพักสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัวในราคาพิเศษเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันเป็นครอบครัว

ขณะที่ ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการในสถานที่ท่องเที่ยว อย่างแหล่งช้อปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ทะเล ภูเขา) เป็นต้น ที่มีความสนใจตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคนี้ คงต้องศึกษาและใส่ใจในเรื่องวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารตามหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงการแสดงป้ายสัญลักษณ์การได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล ซึ่งมีส่วนช่วยเรียกความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ

นำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการพำนักและการใช้จ่ายให้มากขึ้น นอกจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวในเมืองหลักและรองของไทยแล้ว การนำเสนอการท่องเที่ยวเชื่อมโยง (Tourism Linkage) น่าจะช่วยให้นักท่องเที่ยวมีการพำนักและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น แพ็คเกจเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมจากภาคเหนือของไทยไปยังเมียนมาหรือสปป.ลาว แพ็คเกจล่องเรือสำราญ/ยอร์ชจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในภาคตะวันออกของไทยเชื่อมต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนาม เป็นต้น

สร้างความประทับใจกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวซ้ำ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่หันมารุกตลาดนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ควรใส่ใจเรื่องคุณภาพการให้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่สื่อสารภาษาอารบิกเพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความประทับใจและนำไปสู่การกับมาท่องเที่ยวซ้ำ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 60 กลับมาท่องเที่ยวซ้ำในไทย

นอกจากนี้ ภาคเอกชนควรร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของที่พัก อาหาร และของฝากของที่ระลึก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและสร้างบรรยากาศความเป็นมิตรสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวของชาวมุสลิม (Halal-friendly Travel) โดยการปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมข้างต้นนั้น นอกจากจะช่วยตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลาดที่เป็นแรงหนุนสำคัญในช่วงโลว์ซีซั่นแล้ว ยังมีส่วนช่วยดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมอื่น เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดชาวมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรชาวมุสลิมทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ