พาณิชย์แนะเจาะตลาดสินค้า-บริการวาระสุดท้ายของชีวิตในญี่ปุ่น ชี้เงินสะพัดในธุรกิจเกือบ 6 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2016 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า อุตสาหกรรมวาระสุดท้ายของชีวิต (Life Ending Industry) เป็นธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจากสถิติในปี 2543 ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตราว 1,430,000 คน ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย

สถาบันวิจัยยาโนะได้เคยสำรวจตลาดธุรกิจการจัดพิธีศพในญี่ปุ่น พบว่าในปี 2556 มีมูลค่าตลาดประมาณ 5.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.3% ด้วยรูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้นและการขยายตัวของตลาดในธุรกิจนี้ ทำให้มีผู้เข้ามาบุกตลาดนี้จากหลายวงการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทค้าปลีกอย่างอิออน หรือบริษัทผู้ให้บริการด้านการขนส่ง นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตไปถึงงานศพสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรักสัตว์เลี้ยงและมีความผูกพันเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูง แต่เจ้าของก็เต็มใจที่จะจ่าย

"การบริการในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ครอบคลุมถึงบริการก่อนการเสียชีวิต ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพย์สิน การให้คำแนะนำเรื่องการสืบทอดมรดก การบริการด้านการแพทย์และพยาบาล การให้บริการด้านการทำพินัยกรรมและการเขียนสมุดบันทึกวาระสุดท้าย การจองสุสาน การเตรียมการจัดพิธีศพตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนบริการหลังการเสียชีวิต ได้แก่ การจัดพิธีศพ การจัดพิธีทำบุญครบรอบวันเสียชีวิต การบริการจัดพิธีหรือจัดตัวแทนไหว้สุสาน การเยียวยาจิตใจให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น โดยมีสนนราคาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 650,000 บาท" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า สินค้าไทยที่มีโอกาสในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องประดับสำหรับบรรจุอัฐิเพื่อใส่ติดตัว, โถบรรจุอัฐิ, แท่นบูชา, ดอกไม้สด, เครื่องแต่งกายและชุดเข้าร่วมพิธี รวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดงานศพสัตว์เลี้ยง เช่น โลงกระดาษ, ชุดสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการรำลึกถึง

ทั้งนี้ คนญี่ปุ่นในปัจจุบันเปิดกว้างทางความคิดและมีทัศนคติเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการจัดงานตามขนบธรรมเนียมกลายเป็นแบบฟรีสไตล์ไม่ยึดติดกับประเพณีที่เศร้าโศก และมีจุดประสงค์ที่จะส่งคนรักครั้งสุดท้ายด้วยความสุข มีสีสันสดใส ตกแต่งสถานที่ด้วยของรักของชอบของผู้เสียชีวิต ผู้ประกอบการไทยจึงควรมีไอเดียใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมนี้และเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคญี่ปุ่นในอนาคตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ