คลังเผย สนช.เห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2016 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.59 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Seventh Package of Commitments on Financial Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) รวมถึงตารางข้อผูกพันแนบท้ายพิธีสารฯ แล้ว

สำหรับการดำเนินการในลำดับต่อไปนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะจัดทำสัตยาบันสารของพิธีสารฯ และส่งมอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้พันธกรณีที่ระบุในพิธีสารฯ รวมทั้งตารางข้อผูกพันฯ มีผลผูกพันประเทศไทยต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับก่อนหน้า กล่าวคือ เพื่อมุ่งขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการด้านการเงินระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดและ/หรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการด้านการเงินระหว่างสมาชิกอาเซียนให้มากกว่าข้อผูกพันภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนที่จะร่วมกันพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้แข็งแกร่งและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน

โดยการเจรจาในรอบนี้ ประเทศไทยได้เสนอข้อผูกพันเพิ่มขึ้นเฉพาะในสาขาประกันภัย เพื่อยกระดับข้อผูกพันของไทย ในอาเซียนให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กล่าวคือ ปรับปรุงการถือครองหุ้นของผู้มีสัญชาติอาเซียน และจำนวนกรรมการสัญชาติอาเซียนในบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่จัดตั้งในประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบัน ได้แก่ พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ที่ประกาศใช้และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.58 ดังนั้นข้อผูกพันตามพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ของไทย จึงไม่มีผลให้ต้องแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในพิธีสาร ฉบับที่ 7 นี้ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคการเงินของไทยในระยะยาว ด้วยการขยายโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนสัญชาติอาเซียนในธุรกิจบริการด้านการเงินของไทย ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เอกชนไทยสามารถขยายธุรกิจบริการด้านการเงินไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้สะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจไทยในสาขาอื่นๆ ที่ไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในประชาคมอาเซียน

อนึ่ง อาเซียนได้เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน และบรรลุข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินมาแล้ว 6 รอบ สำหรับการเจรจาในรอบที่ 7 นี้ อาเซียนได้เริ่มกระบวนการเจรจามาตั้งแต่ปี 2557 จนได้ข้อยุติในปี 2559 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 10 ประเทศ ได้ลงนามในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.59 โดยแต่ละประเทศจะต้องดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อให้สามารถลงนามให้สัตยาบันหรือยอมรับพิธีสารดังกล่าวภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 20 ธ.ค.59 เพื่อให้พิธีสารฯ รวมทั้งตารางข้อผูกพันฯ มีผลผูกพันในทางปฏิบัติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ