นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอแนวทางการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีดำริมาระยะหนึ่ง คือ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับ 2 ข้างทางรถไฟ ย่านสถานีมีความประสงค์อยากให้ทำประโยชน์สูงที่สุด ซึ่งมีเรื่องของกฎหมายเวนคืน นายกฯจึงให้มีการศึกษาเรื่องนี้ และวันนี้สำนักงานกฤษฎีกาได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงว่า กฎหมายเวนคืนประเทศไทยต้องแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงรัฐธรรมนูญก่อนปี 21 มีหลักการว่าพื้นที่ที่รัฐบาลได้เวนคืนก่อนปี 2521 รัฐบาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นได้ เพราะพื้นที่ที่เวนคืนนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล รวมทั้งพื้นที่ของการรถไฟจำนวนมากที่เวนคืนในอดีตจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้น ในรัฐธรรมนูญในฉบับถัดมาอีก 6 ฉบับรวมฉบับปัจจุบันมีข้อความที่แตกต่างออกไป มีข้อความว่า หากรัฐบาลไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการเวนคืนในระยะเวลาที่กำหนดไว้ รัฐบาลต้องคืนที่ดินให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ทำให้มีข้อจำกัดในการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ กฤษฎีกาจึงนำไปพิจารณาหาแนวทางต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการต่อไป ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ถ้าเป็นที่ดินที่ได้รับการเวนคืนและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และมีบางส่วนที่เหลือ กฤษฎีกาจะบัญญัติบทบัญญัติเพิ่มเติ่มในกฎหมายเวนคืน ซึ่งจะกำหนดให้เจ้าของเดิมหรือทายาทต้องใช้สิทธิ์ขอคืนในระยะเวลา...ปี ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้เวลากี่ปี แต่แนวคิดคือ จะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ทายาทสามารถขอที่ดินที่ไม่ใช้กลับคืนไปได้ แต่หากล่วงเลยเกินกว่าเวลานั้นๆ พื้นที่ดังกล่าวก็จะตกเป็นของรัฐ รัฐจะสามารถนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ได้
ประเด็นที่ 2 นอกจากนี้จะเพิ่มบทบัญญัติให้ชัดเจน ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่เวนคืนแล้ว ก็ให้ถือว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือราชพัสดุ ซึ่งถ้าเกิดต้องการใช้ประโยชน์เพิ่มเติมสามารถใช้ได้ หากการดำเนินการดังกล่าวไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนมา เช่น ที่ดินใต้ทางด่วน ซึ่งมีที่ว่างสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาหากจะนำที่ดินว่างใต้ทางด่วนมาใช้จะมีปัญหา
ประเด็นที่ 3 แต่หากเวนคืนมาแล้วแต่รัฐบาลไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้และต้องคืนให้เจ้าของที่ดินหรือทายาทเดิมมีความประสงค์จะใช้ประโยน์ แต่ในเวลาถัดมารัฐบาลประสงค์จะนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์สาธารณะอื่นก็สามารถตราพระราชบัญญัติซ้ำเข้าไปได้
ประเด็นที่ 4 ในการทำกฎหมายเวนคืนเพื่อให้หน่วยงานไม่เวนคืนมากจนเกินไปนักจนส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น หน่วยงานที่จะดำเนินการเวนคืนต้องจัดทำแผนงานและโครงการการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจนและเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติที่รัฐบาลจะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาแผนงานและโครงการ และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
ประเด็นสุดท้าย กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกรณีเป็นที่ดินที่ซื้อขายในแนวเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ระหว่างที่เกิดโครงการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการซื้อขาย แต่บางแปลงปิดอยู่ก็ใช้อำนาจกฎหมายไปเวนคืนมาและมีการชดเชยตามเหมาะสม ปัญหาคือที่ดินที่มีการซื้อขายก่อนจะมีการเวนคืน ในอดีตจะไม่ถือเป็นการทำสัญญาซื้อขายทั่วไปหรือตกลงซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์ พอเป็นลักษณะนี้หมายความว่าที่ดินดังกล่าวมีการซื้อขายตามปกติ พออยู่ภายใต้กฎหมายนี้ก็ไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้อีก พอถึงเวลาก็ติดกฎเกณฑ์ต้องเอาไปใช้เฉพาะกิจกรรมของโครงการนั้นๆ ทั้งๆที่เป็นที่ดินที่มีการซื้อขายตามปกติ