นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ประชุมเรื่องการขับเคลื่อน Industry 4.0 พร้อมเสนอ Road Map การขับเคลื่อน Industry 4.0 ต่อนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้เทียบเท่ากับระดับสากล พร้อมประกาศเจตนารมย์ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วย Industry 4.0
สำหรับแนวทางการผลักดัน Industry 4.0 ของ ส.อ.ท.นั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงระบบ Automation และ ICT (Demand Side), การส่งเสริมพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรม (Supply Side), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกฏระเบียบ (Infrastructures) และแหล่งสนันสนุนเงินทุนแก่ SMEs (Funding)
"ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเสนอยุทธศาสตร์ต่อนายกรัฐมนตรี อีกทั้งผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงแนวคิด Industry 4.0 กับประชารัฐ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาครัฐในการร่วมขับเคลื่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วย Industry 4.0" นายเจน กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อนำภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มอบหมายหน่วยงานเข้ามาดูแลการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด 3 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (IRDI) ดูแล, ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มอบหมายให้ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ดูแล และด้านพัฒนาบุคคลากร มอบหมายให้สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ (HCBI) เป็นผู้ดูแล โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ Industry 4.0 ได้ภายในปี 2025 ผ่านการกำหนดแผนการดำเนินงานแต่ละด้าน ดังนี้
สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (IRDI) แผน 5 ปี (59-64) ประกอบด้วย จัดสัมมนา นิทรรศการ และพัฒนาหลักสูตรด้าน Automation, จัดให้มีการประเมินตนเองของผู้ประกอบการ (Self – assessment), ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ (Feasibility Study), ดำเนินการโครงการนำร่อง (Implement Pilot Project), ขยายผลสู่อุตสาหกรรม, สร้างกลไกทางการตลาด, ผลักดันให้เกิดการแก้ไขโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ
สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICTI) ส.อ.ท. แผน 5 ปี (59 – 64) ประกอบด้วย หลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้าน ICT, ผลักดันให้เกิดระบบสาธารณูปโภคด้าน ICT ส่วนแผนการดำเนินงาน 9 ปี (59 - 68) ประกอบด้วย ดำเนินการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับภาคอุตสาหกรรม, ชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน (Big Data), เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ (Internet of thing : IoT), เทคโนโลยีที่ผสมผสานโลกดิจิตอลเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง (Cyber Physical system : CPS), พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีการแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจระหว่างบริษัทคู่ค้า 2 ฝ่ายในรูปแบบมาตรฐานสากลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง โดยจะมีการใช้เอกสารที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาแทนเอกสารที่เป็นกระดาษ (Electronic Data Interchange : EDI)
ด้านสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ (HCBI) จะจัดทำ Road Map ในการพัฒนาบุคคลากรให้รองรับ Industry 4.0
นอกจากนี้ สอท.ยังได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการยกระดับอุตสาหกรรม 2.0 สู่อุตสาหกรรม 3.0 และการยกระดับอุตสาหกรรม 3.0 สู่ อุตสาหกรรม 4.0 โดยจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของประเทศ ผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรม (Workshop) และศึกษาดูงานในมิติต่างๆ ตลอดจนการสร้างอุตสาหกรรมนำร่อง เพื่อขยายผลสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในทุกภูมิภาค
"สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีแนวคิดที่จะขับเคลื่อน Industry 4.0 ด้วยกลไกประชารัฐ โดยได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งคณะประชารัฐชุดใหม่ เพื่อรองรับ Industry 4.0 ต่อไป" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ