พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติด้านสุขลักษณะสำหรับทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นมาตรฐานบังคับ โดยเร่งรัดให้มีการจัดตั้งองค์ประกอบคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะต้องเร่งพิจารณาหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นที่ต้องการและชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก ทำให้มีการลักลอบส่งออกทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน และขาดสุขลักษณะ
"กระทรวงฯ จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าทุเรียนจากไทย ซึ่งมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมดในปี 2558 มีปริมาณ 11,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท โดยเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็งประมาณ 1,590 ตัน มูลค่าประมาณ 105 ล้านบาท" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปรวม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมีคุณภาพ ปราศจากโรค และแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในไทยเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก และมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงปลาทะเล และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐาน 3.แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตรังไหม 4. การชันสูตรโรคไอเอชเอชเอ็นวีในกุ้ง และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐาน 5.สารพิษตกค้าง:ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MLRs เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้าได้ และ 6.มาตรฐานแตงเทศหรือเมลอน ซึ่งเป็นผลไม้ผลไม้ที่มีมูลค่าสูง โดยปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกแตงเทศประมาณ 3,100 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 7,700 ตัน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระแก้ว และนครราชสีมา ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าแตงเทศจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 102 ล้านบาท
ด้าน น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้ มกอช.จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นอีก 6 ชุด เพื่อจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรตามที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการได้ขอให้จัดทำมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการผลิต นำเข้า และส่งออก ประกอบด้วย 1. มาตรฐานแอปเปิ้ล เพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีการนำเข้าแอปเปิ้ลจากต่างประเทศประมาณ 1.3 แสนตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท 2.มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ในต้นพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ในประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 8.5 ล้านไร่ 3.มาตรฐานจีเอพีในพืชสมุนไพร ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องยกระดับมาตรฐานพืชสมุนไพรให้สูงขึ้นตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560-2564 4.มาตรฐานจีเอพีในยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก 5.มาตรฐานปลาร้า เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปมีการยกระดับการผลิตปลาร้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตปลาร้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศประมาณ 4 หมื่นตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท และ 6.มาตรฐานจีเอพีการเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสวยงาม เพื่อเป็นการพัฒนามูลค่าตลาดของสัตว์น้ำทะเล สวยงามให้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมา มอกช.ได้มีการออกมาตรฐานจีเอพีสัตว์น้ำจืดสวยงามไปแล้ว ซึ่งภาพรวมของตลาดสัตว์น้ำสวยน้ำงามในแต่ละปีจะมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นสัตว์น้ำจืด 90% สัตว์น้ำทะเล 10%
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้ มกอช. พิจารณาทบทวนร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GMP/HACCP ตามข้อคิดเห็นของที่ประชุมฯ โดยเฉพาะเรื่องค่าธรรมเนียมการบริการตรวจสอบรับรองในกรณีไปใช้บริการจากหน่วยตรวจสอบรับรองของเอกชน ควรพิจารณาให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ด้วย รวมถึงทบทวนหลักเกณฑ์การคิดจำนวนวันทำงานของผู้ตรวจที่เข้าไปตรวจประเมินในฟาร์มหรือสถานประกอบการให้ครอบคลุมทุกมิติ ก่อนเสนอเป็นกฎกระทรวงฯ ต่อไป