ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค.59 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 73.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 67.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.7
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผย GDP Q2/59 ขยายตัว 3.5% ดีขึ้นจากไตรมาสแรก, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5%, สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ความคาดหวังของประชาชนว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วง H2/59
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนก.ค.หดตัว -6.38% ลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลต่อสถานการณ์ระเบิดในพื้นที่ภาคใต้, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลง ราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น และผลกระทบจากสถานการณ์ Brexit ที่มีผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก อีกทั้งมีความหวังว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐในครึ่งปีหลังจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ยังพบว่า ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่ก.พ.58 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเพราะประชาชนมองว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลจะมีการลงทุนและการใช้จ่ายผ่านงบประมาณด้วยการเร่งเบิกจ่ายช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จึงทำให้ประชาชนมองว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
"ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นในช่วง 2 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ ก.ค. และ ส.ค.ทั้งดัชนีในส่วนของเศรษฐกิจปัจจุบัน และเศรษฐกิจในอนาคตปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2 จึงเป็นมุมมองในเชิงจิตวิทยาว่าผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น ซึ่งเกิดจากการรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คนมองการเมืองด้วยความมั่นใจว่าการเมืองจะเข้าสู่กระบวนการในการเลือกตั้ง การเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนภาคธุรกิจเองก็มั่นใจว่าการทำธุรกิจกับต่างประเทศจะคล่องตัวขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จุดที่ยังต้องระมัดระวังคือ ความกังวลของภาคแรงงานเกี่ยวกับสถานะการจ้างงาน หลังจากที่การส่งออกของไทยในปีนี้ที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ ทำให้ภาคแรงงานมีความกังวลว่าจะถูกปรับลดชั่วโมงการจ้างงาน หรือถูกปลดออกจากงาน ซึ่งจากความกังวลของภาคแรงงานเกี่ยวกับการจ้างงานนั้น อาจทำให้กำลังซื้อไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างที่คาด แต่อย่างไรก็ดี จากการทำแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในขณะนี้ ม.หอการค้าไทย ยังไม่เห็นสัญญาณของการปลดคนงานแต่อย่างใด
"กลุ่มแรงงานกังวลว่าจะมีการปลดคนงาน เพราะสภาพการส่งออกที่ไม่โดดเด่น ยังคงติดลบ พนักงานโรงงานจึงทำงานได้ไม่เต็มกะ และมีความกังวลต่อสภาพการจ้างงานของตนเองค่อนข้างมากจากการปรับโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทยยังให้มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 59 ไว้ตามเดิมที่ 3.3% หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.4% ตามการประกาศตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกที่ยังไม่โดดเด่น และผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย จึงทำให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น แม้สถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำบางชนิดจะเริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 3.3% ถ้าภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งการลงทุนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเมื่อภาคการส่งออกกลับมาดีขึ้น น่าจะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น
"เราจึงมองว่าเศรษฐกิจมีภาพการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังค่อนข้างช้า เพราะเม็ดเงินยังหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่เด่น ไม่ค่อยเยอะ แต่เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตได้มากกว่า 3.3% ถ้ารัฐบาลเร่งการเบิกจ่าย เร่งการลงทุน ภาคการส่งออกที่กลับมาดีขึ้น การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี เศรษฐกิจไทยก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ