นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของภาคเอกชนมองว่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับ 35 บาท/ดอลลาร์ เพราะหากแข็งค่ากว่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในขณะนี้ได้ และสามารถรักษาระดับค่าเงินด่องให้ค่อนข้างคงที่ได้
"เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4% ขณะที่ค่าเงินของเวียดนามแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้แต้มต่อของเราหดหายไปในเวทีโลก ในภาวะที่มีการแข่งขันสูง นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นว่าแม้ค่าเงินจะแข็งค่าอยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ แต่คู่แข่งสำคัญของไทยคือ เวียดนาม...ตอนนี้ที่บาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 34.60-34.70 ก็ถือว่ารับได้ แต่ที่อยากจะเห็นคือที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ก.ย.นี้ นายธนวรรธน์ คาดว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังปรับตัวดีขึ้นไม่โดดเด่นนัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่เข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในช่วงปลายปี 58 ได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองในช่วงต้นปี รวมทั้งสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลก
"ถ้าสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย อาจทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวน คาดว่าเฟดไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย. แต่คงไปขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว แต่ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า เงินจะไหลกลับไปตลาดสหรัฐมากขึ้น ค่าเงินบาทคงจะอ่อนค่าลง ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยในก.ย. บาทน่าจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 35 บาท แต่หากไม่ขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าเงินบาทจะยังแกว่งอยู่ในกรอบ 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์" นายธนวรรธน์ กล่าว