น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทย ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย. 59 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าได้แล้ว
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือรูปแบบการลดภาษี (Tariff Reduction Modality) และยื่นรายการสินค้าที่ต้องการให้มีการเปิดตลาดระหว่างกัน โดยไทยเสนอให้ปากีสถานเปิดตลาดสินค้าสำคัญ เช่น อาหารแปรรูป น้ำตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไม้อัด ไม้บาง และไม้แผ่น เยื่อและกระดาษ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
"เพื่อเป็นการเร่งการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการประชุมเจรจา FTA ระหว่างกันเป็นประจำทุกเดือน โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2559 ณ ประเทศไทย"น.ส.สุนันทา กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับในการเจรจา 3 ครั้งที่ผ่านมา การเจรจาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถตกลงกันได้มากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถสรุปผลการเจรจาในส่วนของข้อบทสำคัญได้แล้ว เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า เป็นต้น
สำหรับการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับปากีสถานจะทำให้ไทยสามารถขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลางได้มากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย นอกจากนั้น ปากีสถานยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากร ธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก จึงสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทยได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว
ปากีสถานเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย โดยเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2558 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และอันดับที่ 42 ของไทยในตลาดโลก การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.76 การส่งออกมีมูลค่า 913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.38 การนำเข้ามีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.62
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ย 1.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวลดลงเฉลี่ย 44.96 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากปากีสถาน เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน ยุทธปัจจัย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น