พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า ปัจจุบันการดำเนินงานในพื้นที่นี้อยู่ในขั้นการยึด/การรื้อถอน และการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน ซึ่งในกรณีที่แปลงไม่มีผู้คัดค้านทั้งแปลง สามารถยึดคืนได้ทันที 28 แปลง เนื้อที่ 27,874 ไร่ ใน 6 จังหวัด
สำหรับ จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ที่ไม่มีผู้คัดค้านทั้ง 4 แปลง เนื้อที่ 3,326 ไร่ ทั้งนี้ นางเพียงใจ หาญพาณิชย์ ได้แสดงเจตจำนงคืนที่ดิน ส.ป.ก. ใน จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 1,263 ไร่ แล้ว ซึ่งได้มีการบูรณาการพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จะเข้ามาปรับปรุงดินให้เหมาะสมมากขึ้น กรมชลประทาน จะเข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำ ฝายทดน้ำ ระบบกระจายน้ำ เป็นต้น กรมปศุสัตว์ เตรียมการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เนื่องจากแพะยังมีความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออกถึงปีละ 212,000 ตัว กรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้ามาส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างรอผลผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเข้ามาส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส.ป.ก. ได้จัดทำแผนผังไว้แล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยใช้งบเหลือจ่ายปลายปี 2559 ของ ส.ป.ก. ให้เสร็จเรียบร้อยภายในต้นปี 2560
ทั้งนี้ ใน จ.กาญจนบุรี มีเกษตรกรได้ยื่นความจำนงขอรับการจัดสรรที่ทำกิน จำนวน 6,000 กว่าราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดสรรให้เกษตรกร แต่จะนำเสนอ คทช. ให้พิจารณาเกษตรกรที่ต้องการทำ ปศุสัตว์ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมให้ความรู้การทำปศุสัตว์ แนะนำการบริหารจัดการ การตลาด พัฒนาสู่การเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป และสำหรับพื้นที่แปลงนี้มีจุดเด่นที่อยู่ใกล้ถนนและแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาดูแลเพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอขอใช้งบกลางปี 2559 เพื่อพัฒนาพื้นที่อีก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 2,188 ไร่ ได้แก่ จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.นครราชสีมา ซึ่งในปี 2560 จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ 1) พื้นที่ที่ยึดคืนได้ในกรณีที่ 1 เต็มแปลง จำนวน 28 แปลง เนื้อที่ 27,874 ไร่ และ 2) พื้นที่ที่ยึดคืนได้ในกรณีที่ 1 ไม่เต็มแปลง นอกจากนี้ ยังได้มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะบูรณาการทุกหน่วยงาน โดยจะใช้ Agri-Map พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ และใช้รูปแบบสหกรณ์เข้ามาดูแล แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ 1) พื้นที่อยู่อาศัย 2) พื้นที่ทำกิน 3) พื้นที่ส่วนรวม เช่น สำนักงานสหกรณ์ แปลงรวม ตลาดเกษตรกร เป็นต้น และ 4) พื้นที่ป่า (ถ้ามี) ด้วย