โซลาร์ฟาร์มรายเล็กร้องผู้ตรวจการฯ เช็คบิล กกพ.กรณีเตะถ่วงใบอนุญาต-ไม่เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 9, 2016 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก 17 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เข้ายื่นเรื่องถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวานนี้ เรียกร้องให้ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังมองว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่เป็นธรรมด้วยการเตะถ่วงใบอนุญาตขายไฟฟ้า นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ตัวแทนผู้มอบอำนาจจากผู้ประกอบการในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และจ.สกลนคร) กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการได้รับหนังสือยกเลิกสัญญาฉบับแรกจาก กกพ.เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้า แต่ได้อุทธรณ์ไปว่าติดขัดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องแนวเขตพื้นที่ก่อสร้าง แต่การก่อสร้างก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งช่วงที่กกพ. ทำหนังสือมานั้นบางโครงการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80-90%

ขณะที่ในช่วงนั้น กฟภ.ซึ่งเป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าและกลุ่มผู้ประกอบการได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งมีข้อสรุปว่าความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของทั้ง 17 โครงการเป็นเหตุสุดวิสัย มิได้เกิดจากการจงใจ กฟภ.จึงยังไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นผลให้สัญญายังคงมีผลผูกพันโดยชอบด้วยกฎหมาย สมควรที่ กฟภ.และบริษัทจะตกลงกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าใหม่ต่อไปภายหลัง

แต่ กกพ.ก็ยังไม่ได้ดำเนินการออกใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าให้ และคงมีการประชุมอีกหลายครั้งที่ต้องยืนยันด้วยเอกสารจำนวนมาก และทำให้มีความยืดเยื้อมากว่า 1,500 วัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท/ปี แต่ขณะเดียวกันกกพ.กลับอนุญาตให้ 3 บริษัทซึ่งอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเดียวกันได้สิทธิจ่ายกระแสไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ไปแล้ว และได้ราคาซื้อขายในอัตราเดิมคือ 3 บาท/หน่อย บวกกับ Adder อีก 8 บ่าท/หน่วย รวมเป็น 11 บาท/หน่วย ทำให้เป็นข้อสงสัยว่าจะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา กกพ. มีหนังสือส่งมาให้ผู้ประกอบการเซ็นหนังสือยอมรับราคาการซื้อขายไฟฟ้าในราคาต่ำลงเหลือประมาณ 5.377 บาท/หน่วย จากสัญญาเดิมที่ทำไว้กับกฟภ.ที่ 11 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาที่รับไม่ได้เพราะการลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง

นายคฑายุทธ กล่าวว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการทำงานของกกพ.ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของกกพ.ว่ามีอำนาจกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกกะวัตต์หรือไม่ เนื่องจากในพระราชกฤษฎีการะบุไว้ว่าการผลิตไฟฟ้าทั้ง 17 โครงการป็นกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับยกเว้นฯ ประกาศใช้เมื่อ 1 มิ.ย.52

รวมทั้งตรวจสอบว่าเหตุใด กกพ.จึงให้สิทธิ 3 โครงการที่อยู่ในข่ายเดียวกันกับ 17 โครงการที่มาร้องเรียน ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.แล้ว และตรวจสอบว่า กกพ.ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มผู้ประกอบการหรือไม่ หลังจากที่เลขาธิการ กกพ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ ลงวันที่ 3 ส.ค.59 ระบุเงื่อนไขให้บริษัทต้องยอมรับราคาอัตราค่าซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของการทำสัญญา พร้อมให้บริษัทสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ กับกกพ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ