นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยตัวเลขธุรกิจประกันภัยช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2559) ว่า มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 382,020 ล้านบาท ขยายตัว 5.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ 7.97% ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวนทั้งสิ้น 103,953 ล้านบาท ขยายตัว 0.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 60,444 ล้านบาท ขยายตัว 1.06% ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 8,464 ล้านบาท ขยายตัว 2.12% และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 51,980 ล้านบาท ขยายตัวที่ 0.89% รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 35,370 ล้านบาท ขยายตัว 1.32% ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 5,428 ล้านบาท หดตัวลดลง 1.85% และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 2,711 ล้านบาท หดตัว 2.03%
ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจำนวนทั้งสิ้น 278,067 ล้านบาท ขยายตัว 6.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 204,770 ล้านบาท หดตัว 8.40% รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 20,792 ล้านบาท หดตัว 31.86% ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 3,379 ล้านบาท หดตัว 7.14% และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 2,682 ล้านบาท ลดลง 6.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 30,141 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ 44.20% สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 ธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,332,869 ล้านบาท ขยายตัวอย่างโดดเด่น14.66% เป็นสินทรัพย์ลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 2,773,014 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 2,477,373 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 86.14% ของสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันชีวิต โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ มีจำนวนสูงสุดที่ 2,2553,774 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83.71% ของสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.29% และเงินฝาก 45,414 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.69% ซึ่งหากพิจารณาอัตราส่วนความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 อยู่ที่ 126.02% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคงเข้มแข็งมีสินทรัพย์ลงทุนเพียงพอต่อหนี้สินผู้เอาประกันภัย
สำหรับสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 295,641 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.72% ของสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งนี้ สินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความ เสี่ยงต่ำ โดยลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ จำนวน 96,068 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 32.49% และลงทุนในเงินฝากธนาคารจำนวน 86,522 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.27% ของสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.06%
โดยเมื่อพิจารณาเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องของธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีสินทรัพย์สภาพคล่องรวมทั้งสิ้น 304,660 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.78%
“จากสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงทิศทางยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม (Value-Based Economy) รวมทั้งการใช้ศักยภาพทางดิจิทัล เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมประกันภัยจำเป็นต้องปรับตัวและก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งการขายผลิตภัณฑ์ การชี้แจงข้อมูลข่าวสารหรือใช้ดูแลและให้บริการหลังการขาย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของประชาชนที่แท้จริง"เลขาธิการ คปภ. กล่าว