ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ส.ค.59 ดีขึ้นคลายกังวลภาวะค่าครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2016 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ส.ค.59 และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 42.8 และ 44.4 จากระดับ 42.3 และ 43.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สะท้อนครัวเรือนเริ่มมีความกังวลที่ลดลงต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยครัวเรือนมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและภาวะการมีงานทำลดลง สอดคล้องกับการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน

"ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังปรับตัวลดลงติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนคลายความกังวลต่อสถานการณ์ทางด้านการมีงานทำและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ทั้งนี้หากความเชื่อมั่นของครัวเรือนยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไปก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2559 มีทิศทางที่ดีขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้จากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลงในช่วงฤดูเพาะปลูกประกอบกับความตึงเครียดในสถานการณ์การจ้างงานภายในประเทศที่บรรเทาลง ทำให้ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพเดือน ส.ค.59 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเริ่มลดความกังวลในสภาวะการครองชีพลงบ้าง หลังจากช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้าต้องแบกรับความกดดันทั้งในประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง หรือราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่ผันผวนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และประเด็นเรื่องภาวะการมีงานทำหลังสถานการณ์การจ้างงานภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว สืบเนื่องมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องได้เริ่มกดดันภาคการผลิตและการลงทุนในประเทศ

โดยความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะการมีงานทำบรรเทาลง สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อการมีงานทำและรายได้เดือน ส.ค.59 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จากระดับ 48.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องมาจากองค์กร/หน่วยงานส่วนใหญ่มีการปรับตัวทางธุรกิจโดยเลือกที่จะใช้วิธีการลดเวลาการทำงานนอกเวลา (OT) และการรับพนักงานใหม่ในอัตราที่ชะลอลงมากกว่าการเลิกจ้าง สอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเดือน ส.ค.59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.55 แสนคน จาก 1.98 แสนคนในเดือน ก.ค.59 ซึ่งเป็นการลดลงในจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานในภาคการผลิตมากที่สุดราวร้อยละ 52 สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การจ้างงานในประเทศที่กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ครัวเรือนเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง/ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงได้เข้ามาชดเชยผลดังกล่าว และทำให้ค่าครองชีพโดยรวมปรับตัวลดลง สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อสถานการณ์ด้านราคาสินค้าเดือนส.ค. 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 38.9 จากระดับ 37.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยครัวเรือนลดความกังวลต่อระดับราคาอาหารและเครื่องดื่ม แต่กลับมีความกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทาง/ค่าโดยสารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า การเปิดให้บริการทางด่วนเส้นใหม่ 'ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก' เมื่อวันที่ 20 ส.ค.59 ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนที่เดินทางมาทำงานด้วยรถส่วนตัว รวมไปถึงรถตู้สาธารณะที่ครัวเรือนอาศัยเดินทางมาทำงานได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถระหว่างเขตปริมณฑล-กรุงเทพฯ โดยหันไปใช้ทางด่วนสายใหม่มากขึ้นเพื่อลดเวลาการสัญจรบนท้องถนน ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนราว 3-50 บาท/เที่ยวรอบเดินทาง แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ก็ยังมีความยินดีที่จ่ายเพื่อแลกกับการลดใช้เวลาบนท้องถนนโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งรีบ (Rush hours)

ขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.4 จากระดับ 43.3 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนครัวเรือนมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในระยะข้างหน้า จึงทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมียอดคำสั่งซื้อสินค้าทั้งจากในประเทศและนอกประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษประจำปี (Bonus) ของหลายองค์กร ทำให้ครัวเรือนมีมุมมองต่อรายได้และเงินออมดีขึ้นตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมของดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นช่วงที่สถานประกอบการจะมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเป็นช่วงการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษประจำปี ทำให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นด้านรายได้ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจจะกระทบต่อค่าครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ