พาณิชย์เปิดยุทธศาสตร์ 20 ปี ดันไทยเป็นผู้นำสินค้าเกษตรเชิงนวัตกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2016 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า หลังจากแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ในระยะ 20 ปี (ปี 59-79) ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้แต่ละกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จะต้องจัดสรรงบประมาณตามแผนงบประมาณประจำปี เพื่อนำมาใช้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

"แผนยุทธศาสตร์พาณิชย์ 20 ปี จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน ซึ่งตั้งเป้าว่า หากไทยเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี จะทำให้ไทยก้าวเป็นผู้นำการค้าของโลก หรืออย่างต่ำต้องเป็นที่ 1 ในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตรเชิงนวัตกรรม ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นที่ 1 ของโลก แต่หากไม่เดินตามแผน แม้ไทยจะยังค้าขายต่อไปได้ปกติ แต่จะเสียโอกาสด้านการค้า และการลงทุน ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศ ที่มีการปรับตัวและเตรียมพร้อมที่ดีกว่า" นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดแผนเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 18 เดือนใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการแบบครบวงจร โดยจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าเกษตรขั้นสูงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เร่งรัดแก้ปัญหาคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่ค้างอยู่ เร่งรัดแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ไทยพ้นจากบัญชีที่ต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ภายในปี 60

นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยจะปฏิรูประบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร โดยใช้การตลาดนำการผลิต เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาปริมาณส่วนเกิน หรือคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการ ปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงฯ เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า กฏหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายการจัดตั้งนิติบุคคลเดียว เป็นต้น

ขณะที่ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทผู้บริโภคนั้นจะสำคัญมาก เพราะอนาคตกระทรวงฯ ต้องลดบทบาทการควบคุมราคาสินค้า และปล่อยลอยตัวตามกลไกตลาด หรือหากควบคุม จะทำให้น้อยที่สุด เพราะในอนาคตการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ จะขยายตัวมากขึ้น ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยาก หน้าที่ของกระทรวงฯต้องอำนวยความสะดวก แต่ไม่ได้หมายความ จะยกเลิกทั้งหมด แต่จะทำเฉพาะสินค้าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ การบูรณาการกับระบบการค้าโลก โดยจะกระชับความร่วมมือกับกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เพื่อลดอุปสรรคการค้า การลงทุน สร้างภาพลักษณ์สินค้า และบริการของไทยให้เป็นที่ยอมรับ ผลักดันการส่งออกด้วยการตลาดนำการผลิต สร้างความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ