นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ทิศทางดอกเบี้ยไทยมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ใช่ความไม่แน่นอนว่าจะขยับลง คง หรือขึ้น แต่เป็นความไม่แน่นอนว่าจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะการสื่อสารของนโยบายการเงินไทยผ่านกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย หรือ inflation targeting นั้นดูเหมือนจะยังไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ชัดเจน โดยเฉพาะเราให้น้ำหนักกับผู้กำหนดนโยบายในการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยไว้ด้วย จากการใช้คำว่ายืดหยุ่น หรือ flexible ในการพิจารณากรอบเงินเฟ้อด้วย ซึ่งในที่สุดนักลงทุนคงต้องจับสัญญาณเอาเองว่า ภายใน 3-6 เดือนข้างหน้านั้น ดอกเบี้ยจะขยับขึ้นหรือไม่ เพราะเราคงไม่ได้เห็นการสื่อสารทิศทางดอกเบี้ยชัดๆ เหมือนเช่นที่เฟดทำ แม้เฟดเองก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จมากนักในการสื่อสารทิศทางดอกเบี้ย ดังเห็นได้จากระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมช่วงปลายปีที่คณะกรรมการฯ แต่ละคนเปิดเผย ก็ยังเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย
อย่างไรก็ตาม มองว่านับจากนี้ดอกเบี้ยไทยเป็นขาขึ้น เพียงแต่จะขึ้นได้น่าจะปี 2561 เป็นต้นไป
"เราอาจรอสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยบาทอ่อนค่าสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยน่าจะเริ่มปรับขึ้นได้เร็วๆ นี้ จากเงินไหลออกและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยที่จะปรับสูงขึ้นตามสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ของบริษัทสูงขึ้น หากเอกชนจะระดมทุนผ่านช่องทางนี้ ผมมองว่าน่าจะหาจังหวะทำ ไม่เช่นนั้น ต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้นแม้ดอกเบี้ยนโยบายไทยไม่ได้ขยับขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ เอกชนที่ยังชะลอการลงทุนเพราะคาดว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะต่ำยาว ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบอะไรมาก อาจต้องเตรียมตัว เพราะหากเกิดเงินไหลออกจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย สภาพคล่องเริ่มตึงตัว การแข่งขันในการระดมทุนเริ่มเกิด ดอกเบี้ยเงินกู้จะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ จากความต้องการสินเชื่อที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้กนง.จะคงดอกเบี้ยก็ตาม"
อนึ่ง ในวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามคาด การประชุมระบุถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2 แม้เป็นปัจจัยชั่วคราว แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐยังคงเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
"การคงดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่แรงกดดันเงินเฟ้อต่ำก็ดูสมเหตุสมผล แล้วแต่มองว่าทิศทางดอกเบี้ยไทยยังน่าสับสน สืบเนื่องจากการสื่อสารของ กนง.ที่ยังคงย้ำจุดยืนในการคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน จนนักวิเคราะห์จำนวนมาก รวมทั้งสำนักวิจัยของซีไอเอ็มบี ไทย ก็มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่เช่นนี้ยาวจนถึงปลายปีหน้า หากจะลดก็ต้องเกิดวิกฤติในต่างประเทศจริงๆ เช่น เศรษฐกิจจีนมีปัญหากระทบการส่งออกของไทยให้หดตัวแรง หรือหากจะขึ้นก็เมื่อเศรษฐกิจไทยเร่งตัวแรงและมีแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งเรายังไม่ได้มองเช่นนั้น เศรษฐกิจโลกรวมทั้งจีนน่าจะมีความเสี่ยงลดลงจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการปรับตัวทางโครงสร้างการผลิต ส่วนเศรษฐกิจไทยเองก็น่าจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว U ที่แม้เราผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่เรากำลังอยู่ช่วง U ฐานล่างที่ยังไม่ตวัดหางขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเร่งตัวแรงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหลังความเชื่อมั่นฟื้นเต็มที่จากสัญญาณการเลือกตั้งที่ชัดเจน และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังไม่น่ามีแรงกดดันเงินเฟ้อมากจนต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย"
โดยปกติธนาคารกลาง นอกจากจะพิจารณาระดับดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมแล้ว ก็จะทำหน้าที่สื่อสารทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตให้นักลงทุนสามารถปรับตัวให้สอดรับกับดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ในภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่อยู่บนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ การผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสำคัญๆ รวมทั้งช่วงเวลาการเลือกตั้งของไทยเอง จึงอาจเป็นการยากที่จะสื่อสารทิศทางดอกเบี้ยของไทยได้อย่างชัดเจน ยกเว้นกนง.จะตีโจทย์เหล่านั้นได้ทะลุปรุโปร่งจนสามารถเตรียมเครื่องมือทางการเงินมารับมือเหตุการณ์ต่างๆ และสื่อสารให้กับนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ