นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 59 มาอยู่ที่ 3.2% จาก 3.1% เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2/59 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง
นอกจากนี้ กนง.ยังพิจารณาไปถึงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต่อเนื่องของการบริโภคว่าจะเป็นไปในช่วงสั้น ๆ เท่านั้นหรือไม่ และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชยกรรมในเขตต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ธปท.สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ติดตามใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านได้มีการเร่งปรับโครงหนี้ไปแล้ว
ขณะที่ กนง.มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ ผลการลงประชามติสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิ และทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง
นายวิรไท กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง และเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ปกติทุกประเทศก็ต้องใช้มาตรการด้านการคลังเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยให้การฟื้นตัวมีความต่อเนื่อง แต่การใช้มาตรการด้านการคลังก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ที่ผ่านมามีการใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ไปแล้ว แต่นโยบายการคลังที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่สำคัญเท่ากับการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นโยบายการคลังมีบทบาทต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยตั้งแต่ไตรมาส 4/58 รัฐบาลได้ลงทุนในโครงการภาครัฐซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาตรการและการลงทุนดังกล่าวยังไม่เกิดผลในทันทีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ และในประเทศ แต่การลงทุนของภาครัฐถือเป็นการสร้างฐานให้เกิดการจูงใจ และมีการลงทุนจากภาคเอกชนตามมาเห็นได้จากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมใหม่ หรือ S-CURVE เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าของไทย และ เพิ่มศักยภาพของประเทศในระยะยาว"ผู้ว่าธปท. ระบุ
สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินหรือไม่อย่างไรนั้น ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ต้องรอการประเมินของ กนง.ในการประชุมครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม กนง.พร้อมใช้นโยบายการเงินหากภาวะทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างออกไปจากที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ
ส่วน กนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่นั้น นายวิรไท กล่าวว่า อยากให้มองว่านโยบายการเงินแต่ละประเทศตอบโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ของไทยต้องมีนโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้เกิดการมีสภาพคล่อง มีภาวะตลาดการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ
นายวิรไท ยังเปิดเผยอีกว่า ในสัปดาห์หน้า ธปท.จะเรียกคัสโตเดียนมาหารือเกี่ยวกับการประกาศราชกิจจานุเบกษาที่ระบุให้นักลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ในประเทศไทย จะต้องเปิดเผยข้อมูลการลงทุนว่ามีการลงทุนในตราสารหรือพันธบัตรประเภทในบ้าง เป็นจำนวนเท่าใด เป็นการลงทุนสั้นหรือยาว และเป็นเงินลงทุนที่ต้นทางมาจากที่ใด ซึ่งจะมีผลในปี 2560 เป็นไปตามมาตรฐานสากล และธปท.มีข้อมูลสำหรับการพิจารณานโยบายการเงินในระยะต่อไป
ขณะที่กรณีค่าเงินหยวนเข้าไปสู่ตะกร้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไอเอ็มเอฟ หรือ SDR นั้น เรื่องนี้ ทางธปท.ได้เตรียมพร้อมมานาน ตั้งแต่การบริหารทุนสำรอง และเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นเงินหยวน เมื่อเงินหยวนเริ่มมีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น ปริมาณการค้าโยงกับค่าเงินหยวนก็เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย ผู้ประกอบการก็ควรหันมาใช้เงินหยวนมากขึ้น เพราะเงินสกุลหลักทั้งดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโร มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งการใช้เงินสกุลภูมิภาคจะลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนได้