มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือนปี 59 ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 1-12 ก.ย.59 พบว่า หนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 9 ปีที่มีการสำรวจ โดยอยู่ในระดับเฉลี่ย 298,005.81 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัว 20.2% เป็นหนี้ในระบบ 62.3% หนี้นอกระบบ 37.7% โดยมีวัตถุประสงค์ในการกู้ อันดับ 1 คือ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อันดับ 2 เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ และอันดับ 3 ใช้ซื้อยานพาหนะ
"หนี้ครัวเรือนในปี 59 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 ปีที่มีการสำรวจภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเมื่อปี 51 เพราะหนี้โดยรวมเกือบ 3 แสนบาทต่อครัวเรือน"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3% หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มในอัตรา 2 หลัก ตั้งแต่ปี 55 ที่หนี้เพิ่มขึ้น 5.7% แต่ปี 56 เพิ่มขึ้น 12% ปี 57 เพิ่มขึ้น 16% ปี 58 เพิ่มขึ้น 13% และกระโดดมาเป็น 20% ปี 59 หรือจากที่ก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,000-30,000 บาท แต่พอมาปี 59 เพิ่ม 50,000 บาทต่อครัวเรือนซึ่งถือว่ามาก เกิดจากปัญหาเฉพาะจริง ๆ ทั้งจากภัยแล้ง เจอสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ฟื้น การส่งออกไม่โดดเด่น ประชาชนยังชักหน้าไม่ถึงหลัง จนต้องก่อหนี้
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจากปัญหารถยนต์คันแรก ทำให้ประชาชนก่อหนี้ในช่วงนั้นค่อนข้างมาก หนี้เกี่ยวกับรถมีมากพอสมควรจนไม่สามารถนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยในส่วนอื่นได้
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในกรอบ 83-84% ของจีดีพี ถือว่าติดอันดันต้นๆ 1 ใน 10 ของโลกที่มีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งการที่มีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงนี้ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และประชาชนก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนไม่รุนแรงเพราะเป็นหนี้ในการซื้อบ้านซื้อรถ กู้มาลงทุนซื้อเครื่องมือเครื่องจักรประกอบอาชีพ เพื่อการศึกษา ซึ่งมองว่าเป็นหนี้ครัวเรือนที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรง และไม่น่ากังวัลกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับเฉพาะกลุ่มคน เช่น กลุ่มที่ผู้ใช้แรงงานกับกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีความผิดปกติในเรื่องของภัยแล้ง และเศรษฐกิจไม่ค่อยฟื้น ค่าครองชีพสูง ทำให้รายได้ลดลง และชักหน้าไม่ถึงหลัง และต้องทำการกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง
"สิ่งเหล่านี้รัฐบาลรู้ดี จึงแก้ปัญหาโดยกระทรวงการคลังจึงพยายามออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีทั้งนาโนไฟแนนซ์ ไมโครไฟแนนซ์ ออกกฎ ออกระเบียบแนวทางที่ทำให้การปล่อยกู้โดยนายทุนต้องอยู่ในกรอบ 36% ต่อปี หรือไม่เกินร้อยละ 3 ต่อเดือน ให้ธ.ก.ส. ออมสิน และสถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้นอกระบบ ซึ่งดำเนินการอย่างเข้มข้นและเร่งด่วน จึงเห็นได้ว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบปี 59 ลดลงเหลือ 37.7% จาก 51.3% ในปี 58 และลดต่ำสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่การผ่อนชำระต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยปี 59 การผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 14,889 บาท จากปี 57 ที่อยู่เดือนละ 13,358 บาท และปี 58 เดือนละ 14,033 บาท"นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้แก่ การแก้ปัยหาหนี้นอกระบบ ปัญหาความยากจน ทำให้เกิดความยั่งยืน, จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่มีความต้องการกู้ยืมเงิน, ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน, ส่งเสริมและอบรมสร้างรายได้หลัก และอาชีพเสริมให้แก่ประชาชน, แก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม และเพิ่มสวัสดิการให้กับคนชราและผู้พิการ