นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นถึงผลงานของรัฐบาลว่า ให้คะแนนรัฐบาล 8 เต็ม 10 เนื่องจากสิ่งที่โดดเด่นของรัฐบาลคือ การพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาโดยตลอด ทั้งๆที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคของไทยได้ในระดับเกิน 3% ถือว่าเหนือความคาดหมายของนักวิชาการ แต่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวไปยังต่างจังหวัด
"เศรษฐกิจฟื้นขึ้นเติบโตในครึ่งปีแรก 3.4% ถือว่าเหนือความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตอนแรกผมมองแค่ 3% และอีกหลายๆที่มองว่าต่ำกว่า 3% ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ทำให้เศรษฐกิจโตเหนือ 3% จึงถือว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาล"
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ เองไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 3.4% กับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหาพอสมควร ทำให้รัฐบาลเจอโจทย์ยาก แต่การที่รัฐบาลทำโดยวางแผนพื้นฐานของประเทศในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศพัฒนาในอีก 20 ปีข้างหน้าและหลุดกับดักรายได้ปานกลางในระยะสั้น จึงวางให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ 20 ปี และวางแผนไทยแลนด์ 4.0 พร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ถือว่าเป็นการวางแผนที่ดีในการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วย New s-curve ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) เพราะท่าเรือแหลมฉบังยังเป็นจุดกระจายสินค้าเพื่อโยงประเทศเพื่อนบ้านถือว่าเป็นการวางรากฐานที่ดี
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจมหภาคโตในระดับ 3.2% และ 3.5% ในไตรมาสที่ 1 และ 2 และครึ่งปีแรกโตได้ 3.4% ฟื้นจริงในภาพรวม แต่ไม่ได้กระจายความมั่งคั่งหรือความเจริญไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ธุรกิจในต่างจังหวัดยังเผชิญสถานการณ์กำลังซื้อยังต่ำ ดังนั้น แปลว่ารัฐบาลเจอโจทย์ยาก ในการที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุน ซึ่งข้อติดขัดคือการเบิกจ่ายยังทำได้ช้า แต่ว่ารัฐบาลเร่งโดยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณของส่วนราชการระดับท้องถิ่น อบต. อบจ.ผ่านกองทุนหมู่บ้านถือว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วย SMEs ช่วยประชาชนฐานรากใช้เม็ดเงิน 1-2 แสนล้านบาทพยุงเศรษฐกิจในระดับมหภาค
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่วางกรอบการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 5% และมีการตั้งเป้าหมายต่างๆไว้อย่างชัดเจนทั้งตัวชี้วัดรายได้ต่อคน ทรัพยากร ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำ ใช้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น มองว่าการวางรากฐานในระยะกลางและระยะยาวถือว่าเป็นผลงานที่โดดเด่น
"ถ้าหากทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับ 4% ได้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะค่อยๆลดลง เพราะประชาชนจะเริ่มมีรายได้มากขึ้น"